ครม.รับทราบแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน

27 มิ.ย. 2566 | 09:02 น.
อัพเดตล่าสุด :27 มิ.ย. 2566 | 09:03 น.

ครม. รับทราบแก้สัญญาไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ดึงเอกชนผ่อนชำระสิทธิ์ค่าแอร์พอร์ตลิงก์ 7 งวด หลังโควิดพ่นพิษ กระทบสถานะทางการเงินโครงการฯ

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตามที่คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.)

มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (โครงการฯ) ประกอบด้วย หลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ (Airport Rail Link: ARL) เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และหลักการแก้ปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ

สำหรับหลักการแก้ปัญหาการชำระค่าสิทธิ ARL (Airport Rail Link) จากเดิม เอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาท ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท. ) ภายใน 2 ปี หลังลงนามในสัญญาร่วมลงทุนฯ เป็นเอกชนคู่สัญญาต้องชำระค่าสิทธิ ARL จำนวน 10,671.09 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 1,060.04 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 11,731.13 ล้านบาท โดยแบ่งชำระ ค่าสิทธิ ARL ออกเป็น 7 งวด ได้แก่ งวดที่ 1-6 งวดละ 1,067.11 ล้านบาท และงวดที่ 7 จำนวน 5,328.47 ล้านบาท ภายในวันที่ 24 ตุลาคม ของแต่ละปี

ขณะเดียวกันการแบ่งชำระ 7 งวดดังกล่าว มีความเหมาะสม เนื่องจากผลประโยชน์จากส่วนต่างดอกเบี้ยที่เอกชนคู่สัญญาจะได้รับ (จำนวน 474.44 ล้านบาท) ใกล้เคียงกับผลกระทบที่เอกชนคู่สัญญาได้รับจากสถานการณ์ โควิด-19 (จำนวน 495.27 ล้านบาท) โดยเอกชนคู่สัญญาจะรับผิดชอบค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนเกินจากที่ รฟท. ต้องชำระให้สถาบันทางการเงิน และ/หรือ กระทรวงการคลัง เป็นจำนวนเกินกว่าจำนวนเงินที่ รฟท. ได้รับชำระจากเอกชนคู่สัญญา

 ส่วนเงื่อนไขภายหลังจากการปรับวิธีการชำระเงินแล้ว ดังนี้ 1.กรณีเอกชนคู่สัญญาไม่ชำระค่าสิทธิ ARL ตามกำหนด โดยไม่มีสาเหตุอันสมควร จะถือเป็นเหตุผิดสัญญาในสาระสำคัญ และ รฟท. จะใช้สิทธิบังคับตามสัญญาร่วมลงทุนฯ

2.กรณีเอกชนคู่สัญญาได้รับรายได้ค่าโดยสาร ARL สูงกว่าประมาณการ รฟท. มีสิทธิเจรจาให้เอกชนคู่สัญญาชำระค่าสิทธิ ARL เร็วขึ้น

นอกจากนี้สถานการณ์โควิด- 19 ส่งผลกระทบต่อจำนวนผู้โดยสารและรายรับ ของเอกชนคู่สัญญา หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอาจส่งผลต่อการให้บริการเดินรถและการบำรุงรักษา ARL ต้องหยุดชะงักลง และส่งผลให้ความเชื่อมั่นของโครงการฯ ต่อสถาบันการเงินลดลงด้วย

ขณะที่การแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ โดยที่สัญญาร่วมลงทุนฯ ยังไม่มีกลไกรองรับการแก้ไขปัญหา กรณีเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ ส่งผลให้โครงการไม่มีความเหมาะสมทางการเงิน (Not Bankable) แตกต่างจากกรณีสัญญาร่วมลงทุนของโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีกระบวนการบริหารสัญญากรณีเกิดเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันอันครอบคลุมถึงปัญหาที่เกิดจากความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น โรคระบาดหรือโรคติดต่ออันตรายที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน

ดังนั้นเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ด้วยกระบวนการบริหารสัญญา โดยไม่ต้องแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ จึงมีความจำเป็นต้อง (1) เพิ่มคำจำกัดความของเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผัน ให้ครอบคลุมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบ รุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชนคู่สัญญา เช่น

ความผันผวนทางเศรษฐกิจ และความล่าช้าหรือการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญของโครงการฯ (2) เพิ่มแนวทาง การบริหารสัญญาเพื่อจัดการกับเหตุสุดวิสัยและเหตุผ่อนผันโดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อสถานะ ทางการเงินของโครงการฯ อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อให้สามารถเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น กับคู่สัญญาฝ่ายที่ได้รับผลกระทบด้วยความเหมาะสมและเป็นธรรม

ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ อีอีซี มีหน้าที่ ใช้ความพยายามอย่างดีที่สุด (Best effort) โดยสุจริตภายใต้กฎหมายและ พ.ร.บ. เขตพัฒนา พิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 รวมทั้งประสานความร่วมมือระหว่าง รฟท. และเอกชนคู่สัญญา ถึงวิธีการในการเยียวยา เช่น การขยายระยะเวลาโครงการฯและการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขที่เอกชน ต้องชำระผลประโยชน์ตอบแทนรัฐเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาทางการเงินของโครงการฯ ทั้งนี้ รฟท. ยังมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาร่วมลงทุนฯ เดิมทุกประการ

นายอนุชา กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่จะได้รับจากการแก้ไขปัญหาโครงการฯ ทำให้บริการ โครงการ ARL สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องโดยเอกชนคู่สัญญา สามารถชำระค่าสิทธิ ARL เพื่อรับสิทธิการดำเนินโครงการ ARL ต่อไปได้ และจะมีกลไกในการบริหารสัญญาเพื่อรับมือกับเหตุผ่อนผันและเหตุสุดวิสัยกับเหตุการณ์ ในอนาคต รวมถึงเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อสถานะทางการเงินของโครงการฯ และเอกชน คู่สัญญาเพื่อให้โครงการฯ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์โครงการตามสัญญาร่วมลงทุนฯ

อย่างไรก็ตามในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 1/66 เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักการแก้ไขปัญหาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินและให้เสนอคณะรัฐมนตรีทราบ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการให้พิจารณาหลักเกณฑ์แสะเงื่อนไขให้รอบคอบครบถ้วนด้วย