แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยกับ ฐานเศรษฐกิจ ว่า การประชุม กสทช.วันที่ 23 สิงหาคมนี้ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการด้านการให้บริการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบการกำหนดให้การแพร่ภาพแพร่เสียงผ่าน บริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม หรือ OTT เป็นการให้บริการในลักษณะ Service Provider โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการ Video On-demand Services (VOD) และ Video Sharing Platform Services (VSP) มีสถานะเป็น Service Provider ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.
สำหรับขอบเขตการกำกับดูแลการให้บริการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มนั้น กสทช. จะกำกับดูแลเฉพาะตัวผู้ให้บริการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่จัดการส่งผ่านเนื้อหา หรือผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหา ได้แก่ ผู้ให้บริการ Video On-demand Services (VOD) และ Video Sharing Platform Services (VSP) เท่านั้น โดยไม่ได้กำกับดูแลไปถึงกลุ่มที่เป็นผู้ผลิตเนื้อหา (Content Creator /Producer/ User-generate Content
ทั้งนี้ หากผู้ผลิตเนื้อหาผลิตเนื้อหาขึ้นมาแล้วและต่อมาผู้ให้บริการใดเลือกหรือนำเนื้อหานั้นไปเผยแพร่ ย่อมถือว่ามีอำนาจในการบริหารจัดการเนื้อหา (Editorial Decision) ผู้ให้บริการดังกล่าวย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเนื้อหา (Editorial Responsibilities) ที่เลือกหรือนำมาเผยแพร่นั้นด้วย
กล่าวโดยสรุป คือ กสทช. จะเข้าไปกำกับดูแล การให้บริการเนื้อหาจากสื่อรายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์ วิดีโอ ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น YouTube, Facebook, Twitter, Line, TikTok , Netflix , iflex , Wetv Viu เป็นต้น
เปิดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 7 วรรคสอง แห่งร่างกฎหมายแม่บท กำหนดให้การอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม จะเป็นการประกอบกิจการในลักษณะหรือประเภทใดรวมทั้งมีขอบเขตการให้บริการเพียงใด ให้เป็นไปตามที่ กสทช. ประกาศกำหนด
นอกจากนี้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ปี 2551 กำหนดหลักการในการกำกับดูแลการให้บริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ โดยมีขอบเขตการกำกับดูแลเฉพาะตัวผู้ให้บริการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการส่งผ่านเนื้อหาหรือผู้ให้บริการที่ทำหน้าที่เผยแพร่เนื้อหา ซึ่งได้แก่ ผู้ให้บริการ Video On-demand Services (VOD) และ Video Sharing Platform Services (VSP)
โดยมิได้กำกับดูแลไปถึงกลุ่มที่ เป็นผู้ผลิตเนื้อหา (Content creator/producer/user-generate content แต่อย่างใด โดยผู้ผลิตเนื้อหามีหน้าที่รับผิดชอบต่อตัวเนื้อหาที่มีลักษณะอันต้องห้ามตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2565 พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี หากผู้ผลิตเนื้อหา ผลิตเนื้อหาขึ้นมาแล้วและต่อมาผู้ให้บริการใดเลือกหรือนำเนื้อหานั้นไปเผยแพร่ ย่อมถือว่ามีอำนาจในการควบคุมจัดการเนื้อหา (Editorial Decision) ผู้ให้บริการดังกล่าวย่อมมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อตัวเนื้อหา (Editorial Responsibilties) ที่เลือกหรือนำมาเผยแพร่นั้นด้วย
ทั้งนี้ เนื่องจากระดับความรับผิดต่อการเผยแพร่เนื้อหาบน Platform แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะและรูปแบบการให้บริการ การกำหนดระดับความรับผิดและมาตรการกำกับดูแลจึงย่อมมีความแตกต่างกันและเป็นเรื่องที่ กสทช. ต้องพิจารณาในลำดับต่อไป
ที่ผ่านมาประเทศไทย มีความพยายามในการกำกับดูแลบริการดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ได้ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 ขึ้น (มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มและการควบคุมดูแลเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ
รวมถึงส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจบริการดิจิทัลแพลตฟอร์มมีแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 5 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 กำหนดให้การควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล เป็นการให้บริการสื่อกลางทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการบริหารจัดการข้อมูลเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกันโดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างผู้ประกอบการผู้บริโภค หรือผู้ใช้บริการ เพื่อให้เกิดธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะคิดค่าบริการหรือไม่ก็ตาม ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกานี้ เว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดการควบคุมดูแลบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลเรื่องใดไว้โดยเฉพาะ และเมื่อพิจารณาประกอบกับเจตนารมณ์แห่งร่างกฎหมายแม่บทที่ต้องการให้การแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอิเล็กทรอนิกส์ หรือผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ OTT อยู่ภายใต้กรอบการกำกับดูแลของ กสทช.
ดังนั้น บริการ Video On-demand Services (VOD) และ Video Sharing Platform Services (VSP) จึงควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ด้วย โดยสำนักงาน กสทช. มีหน้าที่ต้องแจ้งให้ ETDA รับทราบต่อไป
ด้านแหล่งข่าวจาก TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นชื่อดัง ระบุว่าเนื่องจากขณะนี้ข้อกำหนดดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช. ยังไม่มีการประกาศมาอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่สามารถแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามพร้อมจะปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยที่ผ่านมาในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มกฎระเบียบชุมชน ในการควบคุม จำกัด เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปฎิบัติตามกฎหมายของแต่ละประเทศอยู่แล้ว
ส่วน Meta ผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม Facebook instagram ระบุว่าเนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนและข้อมูลมากพอเกี่ยวกับนโยบายดังกล่าว ทาง Meta ยังไม่สามารถให้ความคิดเห็นใดๆได้
ขณะที่นายปฐมพงศ์ สิรชัยรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โมโน เน็กซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าในฐานะผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิดีสตรีมมิ่งผ่านบริการโมโนแม็กซ์ พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ปฎิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ตามมองว่าที่ผ่านมาภาครัฐมุ่งเน้นการกำกับผู้ให้บริการที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาผู้ให้บริการผิดกฎหมาย หรือ สตรีมมิ่งเถื่อน ที่ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมบันเทิงมากกว่า