นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่ระหว่างศึกษาภาษีความเค็ม โดยเป็นการพิจารณาการเก็บภาษีตามปริมาณโซเดียม ซึ่งปัจจุบันเรื่องดังกล่าว กรมฯยังอยู่ระหว่างการคุยกับกลุ่มแพทย์ และสาธารณสุข เนื่องจากยังไม่มีสินค้าในพิกัดกรมที่ชัดเจนว่าจะเก็บภาษีได้ ดังนั้น ต้องดูว่ามีผลิตภัณฑ์อะไรที่คนไทยบริโภคเยอะ และมีโซเดียม ซึ่งอาจจะต้องเพิ่มพิกัดใหม่ และการพิจารณามาตรฐานวัดโซเดียม ว่าคนหนึ่งคน ไม่ควรบริโภคโซเดียมเกินวันละเท่าไหร่ เป็นหลักในการเก็บภาษีความเค็ม
“จากการหารือกับทางหมอพบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ย 3,600 กรัมต่อคนต่อวัน ซึ่งมากกว่ามาตรฐานที่แพทย์แนะนำ คือที่ 2,000 กรัมต่อคนต่อวัน ดังนั้นกรมฯจึงสนใจที่จะเก็บภาษีความเค็ม เพื่อช่วยในการเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย ในบริโภคโซเดียมลดลง อย่างไรก็ดี กรมฯไม่ได้เข้าไปเก็บภาษีสินค้าได้ทุกอย่าง ซึ่งความเค็มบ้างส่วนก็ไปอยู่ในก๋วยเตี๋ยว อาหารตามสั่ง ซึ่งกรมฯก็ไม่สามารถตามไปเก็บภาษีได้” นายเอกนิติ กล่าว
ส่วนวิธีการจัดเก็บภาษี ก็จะเป็นเช่นเดียวภาษีความหวาน คือ ยิ่งมีโซเดียมสูง ยิ่งเก็บภาษีอัตราแพง ส่วนยิ่งต่ำก็ เก็บอัตราภาษีถูก เพื่อลดการบริโภคโซเดียม เช่นเดียวกับที่คนไทยลดการบริโภคน้ำตาล รวมทั้งมีการกำหนดอัตราเป็นขั้นบันได เพื่อให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้ และเรื่อมจากสินค้าอุตสาหกรรมก่อน อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งไม่มีในพิกัดแต่เมื่อมีการจัดเก็บภาษีความเค็มก็เพิ่มพิกัดสินค้าใหม่ เป็นต้น
สำหรับภาษีความหวานนั้น ซึ่งการจัดเก็บภาษีดังกล่าวเพื่อให้คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรม บริโภคความหวานลดลงเนื่องจากสินค้าเครื่องดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลมบรรจุขวดนั้น มีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนผสมอยู่มาก จึงได้เริ่มการจัดเก็บภาษีความหวาน เพื่อช่วยสังคมคนไทย ลดโอกาสเป็นโรคเบาหวาน
“เมื่อ 5 ที่แล้ว น้ำหวานที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อน้ำ 100 มล. เก็บภาษีที่ 1 บาทต่อลิตร ซึ่งในขณะนั้นมีน้ำหวานที่มีน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อน้ำ 100 มล. อยู่ที่ 2,993 ล้านลิตรต่อปี แต่พอได้ปรับขึ้นภาษีความหวานเฟส 3 ล่าสุด จัดเก็บภาษีน้ำหวานที่มีน้ำตาล 10-14 กรัมต่อน้ำ 100 มล. ที่ 3 บาทต่อลิตร ทำให้น้ำหวานกลุ่มนี้มีการผลิตลดลงเหลือเพียง728 ล้านลิตรเท่านั้น”นายเอกนิติ กล่าว
ส่วนกรณีสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่เริ่มมีการผสมในเครื่องดื่มมากขึ้นในปัจจุบันนั้น ยังไม่มีการบรรจุในพิกัดภาษีสรรพสามิต เนื่องจากต้องรอติดตามการศึกษาจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO และปรึกษากับกระทรวงสาธารณสุขด้วย ซึ่งสารให้ความหวานก็มีหลายหลากชนิดซึ่งมีทั้งดีและไม่ดีต่อร่างกาย โดยหากไม่มีการห้ามก็จะนำมาเพิ่มในพิกัดภาษีเก็บควบคู่กับภาษีความหวาน ส่วนหากว่าของ WHO ผลออกมาว่าสารแทนความหวานเป็นอันตราย และห้ามใส่ผสมในเครื่องดื่มก็ไม่ต้องทำการจัดเก็บภาษีแล้ว