การค้าชายแดนและผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอีกช่องทางหลักในการขับเคลื่อนภาคการส่งออกของไทย จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยช่วง 6 เดือนแรกปี 2566 มีมูลค่ารวม 895,018 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยไทยส่งออก 517,921 ล้านบาท (+2.4%) นำเข้า 377,098 ล้านบาท (+2.0%) ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าชายแดนและผ่านแดน 140,823 ล้านบาท สวนทางการส่งออกโดยรวมไปยังทุกตลาดทั่วโลกที่ยังติดลบ 5.4%
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และประเทศคู่ค้าเพื่อนบ้านได้เปิดด่านการค้าเกือบทุกด่าน ส่งผลให้การค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในปีที่ผ่านมากระเตื้องขึ้น
สำหรับในปี 2566 กระทรวงพาณิชย์โดยกรมการค้าต่างประเทศได้หารือในการวางแผนงานร่วมกับภาคเอกชน และได้กำหนดเป้าหมายการส่งออกผ่านการค้าชายแดนและผ่านแดนปีนี้ไว้ที่ 1.060 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 3% (จากปี 2565 มีมูลค่า 1.029 ล้านล้านบาท)
สำหรับในครึ่งปีหลังกรมการค้าต่างประเทศมีกำหนดจัดงานมหกรรมการค้าชายแดน 3 ครั้ง ใน 3 จังหวัด โดยการจัดงานที่จังหวัดสระแก้ว และหนองคาย ได้จัดกิจกรรมไปแล้วเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม ได้รับผลตอบรับที่ดีในการกระตุ้นการค้าชายแดนและผ่านแดน และเตรียมจัดอีกครั้งที่นราธิวาส ระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2566 กิจกรรมหลักยังคงเป็นงานแสดงและจำหน่ายสินค้าจากผู้ประกอบการที่มีศักยภาพส่งออก การสัมมนาผู้ประกอบการติดปีก SMEs ด้วย e-commerce ที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำธุรกิจ ทั้งในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การขยายช่องทางการค้า และการวางแผนการผลิต การเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างผู้ประกอบการไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ดำเนินงานและมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลไกความร่วมมืออนุภูมิภาคระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) การพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง (GMS) แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย- มาเลเซีย- ไทย (IMT-GT) และกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง (MLC) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ ส่งเสริมเศรษฐกิจตามแนวชายแดน อำนวยความสะดวกทางการค้าและเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก โครงการจับคู่กู้เงินโดยร่วมมือกับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(ธสน./เอ็กซิมแบงก์) และบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน
“กรมการค้าต่างประเทศรายงานว่าการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ขยายตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะการค้าผ่านแดนไปจีนที่ขยายตัวสูงถึง 74.6% ซึ่งแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และจากภาวะถดถอยของภาคการส่งออกของจีนในช่วงต้นครึ่งหลังของปีนี้ เป็นสัญญาณที่ต้องติดตามใกล้ชิด อย่างไรก็ดีคาดในช่วงครึ่งปีหลัง การค้าและการส่งออกผ่านแดนไปจีนจะยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าผลไม้ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์”
ส่วนเวียดนามซึ่งกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ทั้งการผลิตและส่งออกสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม ที่ลดลงในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2566 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าส่งออกของไทย ที่นำไปใช้ในห่วงโซ่การผลิตของเวียดนาม