สัญญาทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือนธ.ค. ลดลง 7.20 ดอลลาร์ หรือ 0.37% ปิดที่ 1,939.90 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่สัญญาทองคำปรับตัวขึ้นได้เป็นสัปดาห์แรกหลังจากลดลง 4 สัปดาห์ติดต่อกัน
สัญญาโลหะเงินส่งมอบเดือนก.ย. เพิ่มขึ้น 0.40 เซนต์ หรือ 0.02% ปิดที่ 24.234 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพลาตินัมส่งมอบเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 5.20 ดอลลาร์ หรือ 0.55% ปิดที่ 948.20 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาพัลลาเดียมส่งมอบเดือนก.ย. ลดลง 15.50 ดอลลาร์ หรือ 1.3% ปิดที่ 1,229 ดอลลาร์/ออนซ์
สัญญาทองคำปรับตัวลง โดยถูกกดดันจากการที่ดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวขึ้น หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
นายพาวเวล ระบุว่า เงินเฟ้อยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดเตรียมการที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นจะลดความน่าดึงดูดของทอง โดยทำให้สัญญาทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองเงินสกุลอื่น ๆ ขณะที่การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐจะเพิ่มต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำ เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ย
ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน เพิ่มขึ้น 0.09% แตะที่ระดับ 104.0776 ในวันศุกร์
นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เฟดยังคงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ ความเห็นของเจ้าหน้าที่เฟดดังกล่าวได้เพิ่มแนวโน้มที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ย. ซึ่งส่งผลกดดันราคาทอง
ส่วนผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่เปิดเผยในวันศุกร์ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 69.5 ในเดือนส.ค. และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 71.2 จากระดับ 71.6 ในเดือนก.ค.
ขณะเดียวกัน ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า จากระดับ 3.4% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว และสำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจในเดือนที่แล้ว