นายวิชานัน นิวาตจินดา รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไตรมาส 2 ปี 2566 โดยรวมอยู่ที่ระดับ 54.83 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ระดับ 55.37 ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ในระดับทรงตัว
ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และสังคมปรับลงเล็กน้อย สาเหตุคาดว่ามาจากปัญหาด้านค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย และการว่างงาน
อย่างไรก็ตาม การจัดกิจกรรมส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ และภาคเอกชนเข้ามาลงทุนเข้าในพื้นที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนสถานการณ์ความไม่สงบมีแนวโน้มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็เป็นปัจจัยสนับสนุนให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ยังคงอยู่ในระดับเชื่อมั่นทุกด้าน
หากพิจารณาเป็นรายจังหวัด พบว่า ประชาชนในจังหวัดสตูลมีความเชื่อมั่นสูงสุด อยู่ที่ระดับ 60.20 เนื่องจากความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงอยู่ในระดับสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ อย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับใกล้เคียงกับจังหวัดอื่น ๆ รองลงมา ได้แก่ จังหวัดสงขลา (ระดับ 55.71) นราธิวาส (ระดับ 53.91) ปัตตานี (ระดับ 53.54) และยะลา (ระดับ 53.34) ตามลำดับ
ปัญหาในพื้นที่ชายแดนใต้ เรื่องที่ประชาชนมีความกังวลมากที่สุด พบว่า เป็นปัญหาด้านค่าครองชีพสูง และรายได้ไม่เพียงพอ หากพิจารณาผลการสำรวจสถานะทางรายได้เพิ่มเติม พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ ไม่เพียงพอ 75% เนื่องจากค่าครองชีพสูงขึ้น 78% รายได้ลดลง 53% มีภาระมากขึ้น อาทิ ค่าการศึกษา ค่าเลี้ยงดูบิดามารดา เป็นต้น 41% และมีหนี้สินมากขึ้น 27%
สำหรับปัญหาในพื้นที่รองลงมา เป็นปัญหายาเสพติดที่โดยรวมอยู่ในระดับมาก ยกเว้นจังหวัดสตูลและนราธิวาสมีปัญหายาเสพติดอยู่ในระดับมากที่สุด แต่โดยรวมปรับตัวดีขึ้น สอดคล้องกับเรื่องที่ประชาชนต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐด้านการลดค่าครองชีพ การมีงานทำ ราคาสินค้าเกษตร
“ ที่ผ่านมา การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์สำหรับการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีหลายโครงการและยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึง สนค. ยังได้มีการจัดทำเครื่องชี้วัดเพื่อใช้ติดตามความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากระทรวงพาณิชย์จะมีส่วนร่วมทำให้ความเชื่อมั่นของประชาชนในพื้นที่ปรับตัวดีขึ้นต่อไปในอนาคต”
ด้านพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคภาคใต้ (ศอ.บต.)กล่าวว่า เศรษฐกิจและสังคมสร้างความเชื่อมั่นชายแดนใต้มีแนวโน้มดีขึ้นตามลำดับ โดยขณะนี้ต่อเนื่องอีก 3 เดือน เป็นช่วงที่ทุเรียนออกสู่ตลาด ประมาณ 120,000 ตัน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งห่วงโซ่การจำหน่ายและส่งออก ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้นและ ในระยะต่อเนื่องได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากทั้งด้านการเกษตร ปศุสัตว์ ประมง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การแปรรูเพิ่มมูลค่า และการรับรองมาตรฐาน เพื่อส่งจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป