นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่ากาแฟเป็นสินค้าที่ไทยสามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้ โดยการส่งเสริมการผลิตและแปรรูปกาแฟพิเศษให้มีคุณภาพและเพิ่มมูลค่าของกาแฟ ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับเกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้ากาแฟไทย และช่วยให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
โดยในช่วงสำหรับปี 2566 ช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน) ไทยส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่า 59.47 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 7.7% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็น เมล็ดกาแฟ 148.5 ตัน เป็นมูลค่า 1.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ กาแฟสำเร็จรูป 12,081 ตัน เป็นมูลค่า 58.24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยล่าสุดสนค. ได้ศึกษาแนวทางพัฒนาศักยภาพการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูง กรณีศึกษา กาแฟพิเศษเพื่อศึกษารวบรวมข้อมูล ปัญหาและอุปสรรคของเกษตรกร และผู้ประกอบการ และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านการค้าสินค้ากาแฟและกาแฟพิเศษ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน นำไปใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรมูลค่าสูงตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตรไทย
พบว่า กาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เป็นกาแฟที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ตั้งแต่การเพาะปลูก การคัดสรรเมล็ดกาแฟ จนถึงการแปรรูป เพื่อให้ได้กาแฟที่มีคุณภาพสูงและรสชาติดี อีกทั้งช่วยเพิ่มมูลค่ากาแฟพิเศษให้มีราคาสูงกว่ากาแฟทั่วไป โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเอมอรี่ (Emory university) สหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาราคากาแฟพิเศษคั่วแล้ว มีราคาเฉลี่ย ณ สิ้นสุด ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ที่ 28.64 ดอลลาร์หรัฐต่อปอนด์
โดยมีราคาต่ำสุดที่ 18.28 ดอลาร์สหรัฐต่อปอนด์ และราคาสูงสุดที่ 38.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับราคากาแฟคั่วเฉลี่ยของสหรัฐฯ ในปี 2563 (อ้างอิงข้อมูลจากองค์การกาแฟนานาชาติ (International Coffee Organization: ICO) อยู่ที่ 4.14 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ จะเห็นได้ว่า ราคากาแฟพิเศษคั่วเฉลี่ยสูงกว่าราคากาแฟทั่วไปคั่วเฉลี่ยถึงกว่า 5.9 เท่า
แม้ว่าในปัจจุบัน ตลาดกาแฟพิเศษยังเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) แต่ก็ถือเป็นทางเลือกในการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าเกษตร และเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้ากาแฟของเกษตรกรไทย รวมทั้งกาแฟเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูง และตลาดสินค้ากาแฟมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลการผลิตและการค้ากาแฟของโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา (USDA) รายงานว่า ปีการผลิต 2565/66 โลกมีผลผลิตรวม 10.20 ล้านตัน(เป็นพันธุ์อาราบิก้า5.41ล้านตัน และโรบัสต้า 4.79 ล้านตัน ในปีการผลิต 2566/67 (คาดการณ์ ณ มิถุนายน 2566) จะมีผลผลิตรวม 10.46 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 2.5% เทียบกับปีก่อนเป็นพันธุ์อาราบิก้า5.78ล้านตัน และโรบัสต้า4.68 ล้านตัน
สำหรับ ผู้ผลิตกาแฟสำคัญของโลก ได้แก่ เวียดนาม บราซิล และอินโดนีเซีย สำหรับความต้องการใช้ ในปีการผลิต 2565/66 และ 2566/67 โลกมีความต้องการเมล็ดกาแฟ 10.10 และ 10.21 ล้านตัน ตามลำดับ ประเทศที่มีความต้องการมากที่สุด คือ สหภาพยุโรป รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ บราซิล ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์
ส่วนสถานการณ์การผลิตและการค้ากาแฟของไทย ในปี 2565 มีผลผลิตกาแฟ 18,689 ตัน (เป็นพันธุ์อาราบิก้า 9,135 และโรบัสต้า 9,554 ตัน ตามลำดับ) มีการส่งออกกาแฟและผลิตภัณฑ์ เป็นมูลค่า 109.17 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 5.1% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็น (1) เมล็ดกาแฟ (พิกัดศุลกากร 0901) 631.6 ตัน เป็นมูลค่า 3.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (135.38 ล้านบาท) และ (2) กาแฟสำเร็จรูป (พิกัด 210111 และ 210112) 23,347 ตัน เป็นมูลค่า 105.32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (3,655.21 ล้านบาท)
ตลาดส่งออกเมล็ดกาแฟที่สำคัญของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น กัมพูชา สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ แคนาดา สำหรับตลาดส่งออกกาแฟสำเร็จรูปที่สำคัญ ได้แก่ กัมพูชา ลาว ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา