ศาลปกครองกลาง พิจารณาคดีค่าโง่โฮปเวลล์นัดแรก 30 ส.ค.นี้

28 ส.ค. 2566 | 11:05 น.
อัพเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2566 | 11:57 น.

จับตา 30 ส.ค.นี้ นัดแรก “ศาลปกครองกลาง” พิจารณาคดีค่าโง่โฮปเวลล์ หลังคมนาคม-การรถไฟฯ ฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดคณะอนุญาโตตุลาการ

รายงานข่าวจากศาลปกครอง เปิดเผยว่า วันพุธที่ 30 สิงหาคม 2566 เวลา 13.30 น. ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก (ในคดีที่มีคำขอพิจารณาคดีใหม่) คดีที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย ฟ้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการกรณีข้อพิพาทในคดีโฮปเวลล์ ณ ห้องพิจารณาคดี 10 ชั้น 3 อาคารศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ

 

สืบเนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ อ.221-223/2562[1] ระหว่างกระทรวงคมนาคมและการรถไฟแห่งประเทศไทย ผู้ร้องที่ 1 และ 2 กับบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อันเป็นคดีที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งตัดสินให้ผู้ร้องทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะเดิมอันเป็นผลจากการเลิกสัญญา โดยให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินค่าตอบแทน ที่ผู้คัดค้านชำระให้แก่ผู้ร้องทั้งสองจำนวน 2,850,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น
 

ทั้งนี้ให้คืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) รวมถึงค่าธรรมเนียมการออกหนังสือค้ำประกัน จำนวน 38,749,800 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น รวมทั้งให้ผู้ร้องทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันใช้เงินค่าก่อสร้างโครงการจำนวน 9,000,000,000 บาท แก่ผู้คัดค้านพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จด้วย เนื่องจากผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการเป็นการวินิจฉัยโดยไม่มีอำนาจเกินขอบเขตตามสัญญาและข้อตกลงในการเสนอข้อพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ

 

ศาลปกครองชั้นต้นมีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและปฏิเสธไม่รับคำบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าว โดยวินิจฉัยว่า เมื่อคำนวณนับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2541 ซึ่งเป็นวันที่ผู้คัดค้านรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทแล้ว การที่ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อ คณะอนุญาโตตุลาการเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2547 จึงเป็นระยะเวลาเกินกว่า 5 ปีนับจากวันที่รู้ถึงเหตุหรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ตามนัยมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และระยะเวลาการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการถือได้ว่าเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลปกครองสามารถยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ 
 

ดังนั้นคณะอนุญาโตตุลาการไม่มีอำนาจรับ ข้อพิพาทที่ผู้คัดค้านยื่นต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการไว้พิจารณาเพื่อวินิจฉัยชี้ขาดได้ เป็นกรณีตามนัยมาตรา 40 วรรค 3 (2) (ข) และมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ที่การยอมรับหรือหรือบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลปกครองชั้นต้น จึงพิพากษาเพิกถอนและมีคำสั่งปฏิเสธการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการและให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดแก่ผู้ร้องทั้งสอง