ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โครงสร้างร่วม โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม3สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)กับโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน (ไฮสปีดเทรน) ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ กลายเป็นชนวน ติดหล่ม ปมข้อเสนอ “สร้างไปจ่ายไป” ของ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี คู่สัญญาการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แทนสัญญาเดิม รัฐจะจ่ายเงินสนับสนุนต่อเมื่อไฮสปีด3สนามบิน สร้างเสร็จ และเปิดให้บริการเดินรถแล้วเท่านั้น เพื่อแลก กับรฟท.ให้เอกชน รวบการก่อสร้างพื้นที่ทั้งหมดไว้
ประเด็นนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.)ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน สั่งการให้กลับไปหาแนวทางใหม่ โดยตั้งข้อสังเกตว่า “สร้างไปจ่ายไป” อาจมีปัญหา เสี่ยง ทิ้งงาน ซ้ำรอย โครงการโฮปเวลล์ในอดีต ดังนั้นต้องรอบคอบ พร้อมทั้งให้ ทั้งสามฝ่าย ประกอบด้วย รฟท.,สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( สกพอ.)และเอกชนไปหารือร่วมกัน เพื่อหาทางออก ซึ่งคนในรฟท. มองว่า การ”สร้างไปจ่ายไป” สามารถทำได้แต่ เอกชนต้อง มีแนวทางชัดเจน ไม่ให้เกิดการซ้ำรอยโครงการดังกล่าว ที่รัฐไม่สามารถสร้างต่อได้ เพราะเป็นวงเงินมหาศาล
ขณะที่ผ่านมารฟท.และสกพอ.ได้มีการเจรจาร่วมกับเอกชน ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับสัญญาฯ แล้ว โดยแนวทางที่เหมาะสมในการแก้สัญญาฯในครั้งนี้ คือ การ “เดินรถไปจ่ายไป” เนื่องจากแนวทางนี้ถือเป็นการปิดความ เสี่ยงในการที่ภาครัฐชำระเงินแล้ว แต่ไม่ได้”ของ “ทั้งการวางหลักประกันเพิ่มเติม,การตรวจรับงาน ฯลฯ เพื่อให้โครงการฯสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนทางเอกชนมองว่าหากยึดเงื่อนไขสัญญาเดิม ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเอกชนต้องใช้เงินกู้เงินสูงจากธนาคาร จนกระทั่งรฟท.เปิดให้บริการเดินรถ หลังจากนั้นจึงจะนำเงินมาชำระคืนให้แก่ธนาคารที่ปล่อยกู้ให้เอกชน ทำให้ยอดหนี้ของเอกชนอยู่ที่ 160,000 ล้านบาท ถือว่าหนี้สูงมาก ส่งผลให้ธนาคารที่ปล่อยกู้มองว่ายอดหนี้ดังกล่าวถือเป็นความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับเงินคืนสูง หากใช้เงื่อนไขสร้างไปจ่ายไป จะทำให้ยอดหนี้ที่เอกชนค้างชำระกับธนาคารลดลง อยู่ที่ 70,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการหารือ มุ่งเน้นที่ โครงสร้างร่วมทับซ้อนระหว่างไฮสปีดไทย-จีนและไฮสปีด 3 สนามบิน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ที่เอกชนต้องให้ความชัดเจน เนื่องจากรฟท.มีความต้องการให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ หากให้รฟท.เป็นผู้ดำเนินการเอง ต้องของบประมาณจากภาครัฐเพื่อดำเนินการออกแบบความเหมาะสมของโครงการฯและเริ่มดำเนินการก่อสร้าง คาดว่าจะใช้ระยะเวลาราว 2 ปี
หากให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างช่วงดังกล่าวเองจะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ทันที แต่ที่ผ่านมาเอกชนยื่นเงื่อนไขให้ภาครัฐว่า เอกชนขอปรับแผนการชำระค่าก่อสร้างโครงการฯ เป็น”สร้างไปจ่ายไป” โดยภาครัฐยืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ และเอกชนต้องการรอหารือร่วมกับรัฐบาลชุดใหม่ กับประเด็นดังกล่าว เพื่อประกอบการตัดสินใจ สะท้อนว่าการรับมอบพื้นที่และการลงมือก่อสร้างไฮสปีด3สนามบิน ต้องลากยาวออกไป
นี่คือปัญหาใหญ่ บนความเสี่ยง ที่ต้องหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิด “โฮปเวลล์”ภาค2 !!!