เอกชนระนอง เฮ! คาดโครงการแลนด์บริดจ์ เข้าครม.ตุลาคม นี้

30 ส.ค. 2566 | 08:36 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ส.ค. 2566 | 08:57 น.

พ่อเมืองระนอง แจ้งข่าวดี คาดโครงการแลนดบริดจ์ รองรับการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน จะเข้าที่ประชุม ครม.ในช่วงเดือนตุลาคม นี้

นายศักระ  กบิลกาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผย ในระหว่างการประชุมคณะกรรมการจังหวัด ถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน  หรือ แลนด์บริดจ์ (Landbridge) โดยคาดว่าจะนำเสนอเข้า ครม.ในช่วงเดือนตุลาคม 2556 นี้

นายศักระ  กบิลกาญจน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง

ขณะที่นายนิตย์  อุ่ยเต๊กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า การที่รัฐบาลมีการเปลี่ยนแปลง ก่อนหน้านี้ทางภาคเอกชนจังหวัดระนองต่างวิตกว่าจะส่งผลกระทบต่อหลายโครงการพัฒนา โดยเฉพาะ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge)  

หลังจากที่  ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เผยในที่ประชุม   คณะกรมการจังหวัด ประจำเดือนสิงหาคม 2566 ทำให้ทุกฝ่ายสบายใจ และมั่นใจว่า โครงการแลนด์บริดจ์  มีความคืบหน้าอย่างแน่นอน 

รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า ที่ผ่านมาทางโครงการกล่าวได้คืบหน้าไปในระดับหนึ่ง โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ชี้แจงรายละเอียดโครงการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model)

เอกชนระนอง เฮ!  คาดโครงการแลนด์บริดจ์ เข้าครม.ตุลาคม นี้

รวมถึงชี้แจงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Landbridge) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมทราบข้อมูลการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในจังหวัดระนองในอนาคต รวมถึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมงานแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการพัฒนาในภาพรวมของจังหวัดระนองต่อไป 

ทั้งนี้ จากกรณีที่กระทรวงคมนาคม เคาะ “อ่าวอ่าง” ระนอง ท่าเรือใหม่เชื่อม “แลนด์บริดส์” โดยเมื่อ 22  เม.ย. 2565 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขณะนั้นเป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์)  ครั้งที่ 2/2565

เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference) เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 โดยระบุว่า ที่ปรึกษาได้นำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว
  

เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยังแลนด์บริดจ์ รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือ ในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่อีกทั้งตำแหน่งท่าเรือยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร – ระนอง

เอกชนระนอง เฮ!  คาดโครงการแลนด์บริดจ์ เข้าครม.ตุลาคม นี้
  
โดยผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 4 แสนล้านบาท และเมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU หลังจากนี้ที่ประชุมได้เร่งรัดเสนอคณะทำงานบูรณาการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้

เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามันกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อพิจารณาในประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไป  

นายศักดิ์สยาม เคยกล่าวด้วยว่า ตนได้มีข้อสั่งการให้ สนข. และที่ปรึกษา ศึกษาปริมาณสินค้าและแผนทางการพัฒนาความสามารถในการรองรับสินค้าของโครงการแลนด์บริดจ์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงการมีความน่าสนใจ และสามารถแข่งขันกับโครงการการพัฒนาท่าเรือในประเทศต่างๆ เช่น โครงการ East Coast Rail Link (ECRL) และโครงการมะละกาเกตเวย์ ในประเทศมาเลเซีย และโครงการดาราสาคร ในประเทศกัมพูชา  
รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และอุตสาหกรรมครบวงจร ได้แก่ เขตส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การธนาคาร การประกันภัย เป็นต้น เขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิตัล เขตอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม และเขตส่งเสริมการลงทุนปลอดภาษี