thansettakij
อัพเดทล่าสุด กรมโยธาฯระงับใช้ 53 อาคารทั่วประเทศหลัง เหตุแผ่นดินไหว

อัพเดทล่าสุด กรมโยธาฯระงับใช้ 53 อาคารทั่วประเทศหลัง เหตุแผ่นดินไหว

06 เม.ย. 2568 | 13:02 น.
อัปเดตล่าสุด :06 เม.ย. 2568 | 14:21 น.

ศรต.ยผ กรมโยธา สั่งระงับใช้ 53 อาคารทั่วประเทศหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวจาก 6,588 อาคาร กระทบหลายพื้นที่ของไทยโดยเฉพาะกรุงเทพฯ

 

เข้าสู่ 10 วันสำหรับเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ศูนย์รับแจ้งเพื่อตรวจสอบความเสียหายของอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว (ศรต.ยผ.) กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทยวันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน 2568 โดยรายงานผลการดำเนินการในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2568 แบ่งอาคารตรวจสอบออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กรมโยธาสั่งระงับใช้อาคาร กรมโยธาสั่งระงับใช้อาคาร

อาคารกลุ่มที่ 1 ได้แก่ อาคารสาธารณะ อาคารชุมนุมคน เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน อาคารราชการ ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการตรวจสอบร่วมกับ สภาวิศวกร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร และวิศวกรอาสาภาคเอกชน

ดำเนินการตรวจสอบอาคารที่ได้รับการร้องขอ ในวันที่ 5 เมษายน 2568 จำนวน 5 หน่วยงาน จำนวน 24 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 22 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 2 อาคาร และสีแดงไม่มีอาคารที่มีความเสียหายอย่างหนักและระงับการใช้อาคาร

สรุป ดำเนินการตรวจสอบอาคาร สะสมตั้งแต่ วันที่ 28 มีนาคม - 5 เมษายน 2568 จำนวน 191 หน่วยงาน จำนวน 559 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 511 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 46 อาคาร/ โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 2 อาคาร

สรุปการตรวจสอบอาคารทั่วประเทศ สรุปการตรวจสอบอาคารทั่วประเทศ

อาคารกลุ่มที่ 2 ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ โรงแรม คอนโดมิเนียม หอพัก ห้างสรรพสินค้าที่เป็นของภาคเอกชน อาคารเหล่านี้ เป็นอาคารที่ต้องมีการตรวจสอบอาคารตามกฎหมายควบคุมอาคารทุกปีอยู่แล้ว

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้แนะนำให้เจ้าของอาคารให้ผู้ตรวจสอบอาคารที่เคยตรวจสอบเข้าดำเนินการ ตามคู่มือสำรวจความเสียหายขั้นต้นของโครงสร้างอาคารหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวของกรมโยธาธิการและผังเมือง

ในกรณีที่ผู้ตรวจสอบอาคารไม่สามารถตรวจสอบอาคารได้ ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองมีผู้ตรวจสอบอาคารที่ขึ้นทะเบียน จำนวนมากกว่า 2,600 ราย สามารถค้นหาผู้ตรวจสอบอาคารได้ผ่านเว็บไซต์กรมโยธาธิการและผังเมือง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีความห่วงใยว่าอาจมีการดำเนินการตรวจสอบอาคารไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ทำให้ประชาชนมีความกังวลในการเข้าใช้อาคาร จึงมีหนังสือ ด่วน

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2568 สั่งการให้กรุงเทพมหานคร ในฐานะเจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารตามมาตรา 32 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522

ได้แก่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ อาคารชุมนุมคน โรงมหรสพ โรงแรมตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป โรงงานที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และพื้นที่ตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป สถานบริการที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัย รวมที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป และป้าย

ให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพอาคาร โครงสร้างของตัวอาคารและอุปกรณ์ประกอบต่าง ๆ ของตัวอาคารโดยด่วน และรายงานผลการตรวจสอบให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น (กรุงเทพมหานคร) ทราบ พร้อมมาตรการควบคุมกรณีพบว่าอาคารมีความชำรุดในระดับต่าง ๆ

เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้พักอาศัยและผู้ใช้อาคารซึ่งกรุงเทพมหานครได้แจ้งเจ้าของอาคารภาคเอกชนที่ต้องทำการตรวจสอบตามกฎหมายแล้วจำนวนประมาณ 11,000 แห่ง เพื่อดำเนินการตรวจสอบอาคารและรายงานให้กรุงเทพมหานครทราบ ซึ่งมีการแจ้งว่าได้มีการตรวจสอบแล้วจำนวน 1,618 แห่ง

อาคารกลุ่มที่ 3 ได้แก่ อาคารบ้านพักอาศัย ตึกแถว ห้องแถว และอาคารทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานครกรุงเทพมหานครจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจสอบให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนผ่าน Traffyfondue ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 5 เมษายน 2568 ได้รับแจ้งทั้งหมด 18,407 เรื่อง และดำเนินการแล้วเสร็จ 17,201 เรื่อง

สำหรับอาคารในต่างจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทางกรมโยธาธิการและผังเมืองได้สั่งการให้โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด ดำเนินการตรวจสอบอาคาร ร่วมกับวิศวกรขององค์ปกครองส่วนท้องถิ่นและวิศวกรอาสาของเอกชนในพื้นที่ ร่วมกันดำเนินการเช่นเดียวกับส่วนกลางและให้คำปรึกษาแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่

โดยสั่งการให้มีการตรวจสอบอาคารสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล หรืออาคารหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการใช้อาคาร ปัจจุบันได้มีผลการตรวจสอบอาคารในส่วนจังหวัด 76 จังหวัด จำนวน 6,029 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 5,669 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 309 อาคาร / สีแดง โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนักโดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร จำนวน 51 อาคาร

 สรุปผลการตรวจสอบอาคารที่มีการแจ้งว่าได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว ตั้งแต่ วันที่ 28 มีนาคม – 5 เมษายน 2568 ทั้งในกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัด รวมทั้งสิ้น จำนวน 6,588 อาคาร สามารถใช้งานได้ปกติ สีเขียว จำนวน 6,180 อาคาร / มีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้ สีเหลือง จำนวน 355 อาคาร โครงสร้างมีความเสียหายอย่างหนัก

โดยได้สั่งให้ระงับการใช้งานอาคาร สีแดง จำนวน 53 อาคาร นอกจากนี้ กรมโยธาธิการและผังเมืองมีช่องทางให้เจ้าของอาคาร ผู้ตรวจสอบอาคาร หรือพี่น้องประชาชน สามารถรับทราบข้อมูลต่าง ๆ และให้คำปรึกษาผ่านช่องทางการประชาสัมพันธ์ของกรมฯ สื่อมวลชน โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ปัจจุบัน

กรมโยธาธิการและผังเมืองเปิดสายด่วนสำหรับขอรับคำปรึกษาและแจ้งเหตุที่หมายเลข 1531 / 02 299 4191 และ 02 299 4312 ตลอด 24 ชั่วโมงทั้งนี้ กรมฯ ได้สร้างความเข้าใจถึงเกณฑ์แบ่งสีระดับสถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวขั้นต้น และข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร ดังนี้

  • สีเขียว -สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายเล็กน้อยหรือไม่มีความเสียหาย คำแนะนำการใช้อาคาร : สามารถใช้งานอาคารได้ตามปกติ ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : เจ้าของอาคารควรเฝ้าระวังสภาพความเสียหายของอาคารที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง และหากตรวจสอบพบการเปลี่ยนแปลงหรือพบสิ่งที่อาจก่อให้เกิดอันตรายให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลอาคารของหน่วยงาน และแจ้งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้าตรวจสอบต่อไป
  • สีเหลือง

- สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายปานกลาง สามารถใช้งานได้แต่ต้องระมัดระวังภัยจากเศษวัสดุร่วงหล่นจากชิ้นส่วนโครงสร้างและส่วนประกอบต่าง ๆ ของอาคาร

- คำแนะนำการใช้อาคาร : สามารถใช้งานอาคารได้ต่อไป (บางส่วนหรือทั้งหมด) และอาคารต้องได้รับ

การตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง

- ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : จัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญดําเนินงานสำรวจความเสียหาย

อย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อยืนยันความปลอดภัยในการใช้งานอาคารและกำหนดวิธีซ่อมแซมที่เหมาะสมต่อไป

  • สีแดง

- สถานะโครงสร้างอาคารที่ได้รับการตรวจสอบขั้นต้น : โครงสร้างอาคารมีความเสียหายอย่างหนัก

มีสภาพไม่ปลอดภัย

- คำแนะนำการใช้อาคาร : ห้ามใช้งานอาคาร

- ข้อปฏิบัติหลังการตรวจสอบอาคาร : การเข้าภายในอาคาร ต้องได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ รวมถึงต้องจัดหาวิศวกรผู้เชี่ยวชาญดำเนินการสํารวจความเสียหายอย่างละเอียดอีกครั้ง เพื่อกำหนดวิธีการซ่อมแชมที่เหมาะสม ก่อนเปิดให้ใช้อาคารต่อไป