นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ต้นทุนการเข้าถึงอุปกรณ์หรือข้อมูลข่าวสารที่ลดต่ำลง เป็นแรงกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจในรูปแบบดั้งเดิมถูกขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไม่พึ่งพาพื้นที่ทางกายภาพเหมือนอดีต ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจตลอดจนรูปแบบการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป
ซึ่งเป็นโอกาสของผู้ที่สามารถเข้าถึงและปรับตัวใช้เทคโนโลยีดังกล่าวสร้างหรือพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ ในขณะเดียวกันเป็นความท้าทายสำหรับภาคประชาชน และภาคธุรกิจที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือปรับตัวได้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วดังกล่าว
ซึ่งอาจนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ขณะเดียวกัน ยังเป็นโอกาสและความท้าทายของภาครัฐในการเตรียมความพร้อมสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงหาแนวทางบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาลดความเหลื่อมล้ำเดิมที่มีอยู่
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ได้แก่ การขยายตัวของเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม (Platform economy) โดยธุรกิจที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วในทศวรรษที่ผ่านมา ล้วนเป็นธุรกิจที่เกิดบนเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม อาทิ บริการขนส่ง ที่พัก การซื้อขายออนไลน์ และเครือข่ายสังคม เป็นต้น
โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันคือเป็น “ธุรกิจแพลตฟอร์ม” ที่ไม่ได้ผลิตสินค้าและบริการด้วยตนเอง แต่ทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” และโยกย้าย “ตลาด” ที่เคยเป็นพื้นที่ทางกายภาพเข้าสู่โลกดิจิทัล ตลอดจนทำหน้าที่ “จับคู่” ผู้ซื้อและผู้ขาย ธุรกิจดังกล่าวสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อการใช้แรงงาน อาทิ แรงงานที่ทำงานบนระบบคลาวด์โดยไม่ยึดโยงกับพื้นที่ทางกายภาพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานที่ใช้ทักษะสูง เป็นต้น นอกจากนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจแพลตฟอร์เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังมีการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักร (Automation) ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แต่รวมไปถึงการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้กับการบริหารงาน ซึ่งจะเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปนับจากนี้ เนื่องจากมีความสามารถในการวิเคราะห์ที่แม่นยำ ทั้งนี้ ในปัจจุบันแม้จะมีเพียงทักษะบางประการที่จะถูกทดแทนด้วยการทำงานอัตโนมัติโดยเครื่องจักรได้ แต่ในอนาคตอาจมีการพัฒนาเทคโนโลยีให้เครื่องจักรทำงานแทนคนในทักษะต่าง ๆ มากขึ้น
ขณะเดียวกัน การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data - driven economy) พัฒนาการทางเทคโนโลยีได้เพิ่มศักยภาพให้กับข้อมูล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล
“การเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในประเด็นดังกล่าวข้างต้น มีนัยต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน จากการศึกษาของ McKinsey & Company กล่าวว่า การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติจะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตขึ้นอีกประมาณ 0.8-1.4% รวมทั้งลักษณะงานที่มีรูปแบบการทำงานที่ทำซ้ำ ๆ จะมีโอกาสถูกทดแทนด้วยเครื่องจักรหรือ AI มากกว่า50%ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อแรงงานที่อาจถูกเลิกจ้าง”
นอกจากนี้ การขยายตัวของธุรกิจแพลตฟอร์มที่ไม่จำเป็นต้องมีสถานที่ขายสินค้าจะเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานที่ต้องการแรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีมากขึ้นด้านความสามารถทางการแข่งขัน ธุรกิจที่สามารถเข้าถึงและปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาต่อยอดธุรกิจจะมีโอกาสเติบโตสูง โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย ระบุว่า ธุรกิจที่สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมีโอกาสเติบโตมากกว่าเดิม 5% ต่อปี
ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวได้มีโอกาสเติบโตลดลงเหลือเพียง 2.8% ต่อปีด้านการกำหนดนโยบายสาธารณะ ประเทศไทยสามารถใช้การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีด้านข้อมูล เช่น Big data มาช่วยกำหนดนโยบายสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำได้ โดยเฉพาะนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาที่ต้องใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก รวมทั้งการประมวลผลด้วยปัญญาประดิษฐ์ อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประกอบการกำหนดนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องบูรณาการข้อมูลร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน
จากประเด็นการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและนัยยะต่อความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง พร้อมรองรับเทคโนโลยี จัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น กฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา การชำระเงินออนไลน์ที่ปลอดภัย การกำกับดูแลเพื่อรองรับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลง และรักษาความเป็นธรรมระหว่างธุรกิจบนเศรษฐกิจดิจิทัลและธุรกิจดั้งเดิม
ปรับปรุงระบบสวัสดิการ เพื่อรองรับแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการจัดตั้งกองทุนประกันสังคมสำหรับแรงงานดิจิทัลแยกต่างหาก และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเพื่อกำหนดนโยบายพัฒนาศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลในการกำหนดนโยบายภาครัฐ สนับสนุนการสร้างฐานข้อมูลร่วมกับภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมศักยภาพของฐานข้อมูลใหญ่ และควรให้ข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม”
อย่างไรก็ตาม นอกจากความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ยังคงมีความท้าทายอื่น ๆ ที่ประเทศไทยต้องเผชิญ อาทิ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการระบาดของโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่ง สนค. จะกล่าวถึงในโอกาสถัดไป