นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงนโยบาย รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ว่า นโยบาย รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย จะไม่ถูกเขียนเอาไว้ในนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมจะแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาในสัปดาห์หน้า
“ตอนนี้นโยบายของทางพรรคเพื่อไทย เรื่องรถไฟฟ้า กทม. 20 บาท ตอนนี้ไม่ใช่เร่งด่วน แม้ว่าต้องการทำแต่มีปัญหาเรื่องนโยบายอื่น ๆ ที่มีความสำคัญมากกว่า จึงต้องนำเงินไปใช้ตรงนั้นก่อน น่าจะไม่เกิน 2 ปี เราจะผลักดันเพื่อนโยบายนี้ให้เป็นรูปธรรมให้ได้”
ส่วนการโครงการลงทุนขนาดใหญ่ต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม โดยเฉพาะโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ แลนด์บริดจ์ ให้เกิดความต่อเนื่องหรือไม่ นั้น นายสุริยะ ยอมรับว่า กระทรวงคมนาคมพร้อมสานต่อโครงการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงด้านการขนส่งระหว่างทางน้ำกับทางราง
“กระทรวงคมนาคม พร้อมส่งเสริมเรื่องการลดต้นทุนโลจิสติกส์เป็นนโยบายหลัก ๆ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีต้นทุนการขนส่งสินค้าที่สูงกว่าประเทศอื่นมาก ดังนั้นนโยบายของรัฐบาลจึงต้องเน้นเรื่องการลงทุนระบบรางให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะช่วยลดต้นทุน ไม่ให้กระทบต่อราคาสินค้าในปัจจุบัน”
ทั้งนี้ยังยืนยันอีกว่า ในการผลักดันโครงการลงทุนทั้งหมดนั้น ขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า อะไรที่ทำได้ตามกรอบก็ดำเนินการทันที ส่วนโครงการที่ยังติดขัดอยู่ก็ต้องรอ โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณในการดำเนินโครงการ แต่ในด้านการผลักดันเงินลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น กระทรวงคมนาคม ก็พร้อมเร่งการลงทุนของรัฐวิสาหกิจในช่วงแรก เพื่อให้เกิดเงินลงทุนไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สำหรับนโยบาย รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย ถูกกำหนดไว้เป็นหนึ่งในนโยบายของพรรคเพื่อไทยด้านคมนาคม เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้โดยสาร และทำให้ชีวิตของประชาชนสะดวกสบายขึ้น การเดินทางด้วยระบบรางถือเป็นการเดินทางที่ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีที่สุดอย่างหนึ่งในขณะนี้ เราจะเร่งเจรจากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า
นอกจากนี้ยังมีนโยบายการติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้รถไฟชั้นสามทุกขบวน พร้อมปรับปรุงสภาพภายในให้มีความทันสมัย เพื่อคุณภาพการเดินทางที่ดีขึ้นของผู้มีรายได้น้อย และผู้ใช้รถไฟชั้นสามทั่วประเทศ
เช่นเดียวกับยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศให้สามารถเป็นการเดินทางแบบไปกลับประจำ (Commute) ได้อย่างแท้จริง พร้อมสร้างระบบ Feeder ที่สะดวกสบายเชื่อมโยงแต่ละ Hub ยกตัวอย่างเช่น เส้นทาง นครราชสีมา-กรุงเทพฯ และเพิ่มความเร็วให้ได้เป็น 200 km/h
รวมถึงการเร่งการเชื่อมโยงรถไฟขนส่งสินค้า จากลาวเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของระบบขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังที่กำลังขยายตัวรองรับสินค้า 18 ล้านตู้ต่อปี เพื่อขจัดปัญหาคอขวดในกระบวนการกระจายสินค้าเกษตรตลอดโซ่อุปทาน เพื่อสร้าง Ecosystem ยกระดับไทยเป็น Logistics Hub ของเอเชีย ทั้งทางทะเล และทางอากาศ
รวมทั้งนโยบายการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ เป็นการเชื่อมต่อเพื่อเพิ่มปริมาณทั้งด้านการค้าและการท่องเที่ยวกับจีนและประเทศในอาเซียน เส้นทางรถไฟดังกล่าวยังเชื่อมต่อกับเส้นทางสายไหมใหม่ (Silk Road Economic Belt) ซึ่งเป็นประตูไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง รัสเซีย และยุโรป