คมนาคม แบ่งงานลงตัว "สุริยะ" คุมเอง 9 หน่วยงาน ที่เหลือเกลี่ยแบ่ง 2 รมช.

14 ก.ย. 2566 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ก.ย. 2566 | 08:37 น.

เริ่มแล้ว “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” เดินหน้าแบ่งงาน 22 หน่วยงาน กระทรวงคมนาคม คุมเอง 9 หน่วยงาน ส่วนที่เหลือเกลี่ยแบ่ง 2 รมช.คมนาคม

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับการประชุมเพื่อมอบนโยบายในการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมนั้น กรอบแนวทางการทำงานของกระทรวงคมนาคม ภายใต้นโยบายของรัฐบาล และการสนองตอบความต้องการของประชาชนที่มีต่อการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการในระบบคมนาคมขนส่ง

นายสุริยะ กล่าวว่า ขณะที่ตนมีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการ สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ ดังนี้

  • กรมทางหลวง (ทล.)
  • กรมทางหลวงชนบท (ทช.)
  • การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
  • บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.
  • กรมท่าอากาศยาน (ทย.)
  • สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
  • สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.)
  • สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม
  • สถาบันฝึกอบรมระบบราง

เบื้องต้นได้มอบหมายงานให้ 2 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมดูแลรับผิดชอบแต่ละหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม โดยมี 8 กรม 12 รัฐวิสาหกิจ 2 หน่วยงานอิสระ ดังนี้ 

 

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม 

มีอำนาจในการสั่งการอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ ดังนี้

  • กรมเจ้าท่า (จท.)
  • องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
  • การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
  • สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.)
  • บริษัท โรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำกัด

 

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

มีอำนาจในการสั่ง การอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สำหรับงานของส่วนราชการและหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

  • กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
  • กรมการขนส่งทางราง (ขร.)
  • บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)
  • การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)
  • บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด
  • บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.)
  • การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
  • บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.)

คมนาคม แบ่งงานลงตัว \"สุริยะ\" คุมเอง 9 หน่วยงาน ที่เหลือเกลี่ยแบ่ง 2 รมช.

 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า กรณีโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ที่ยังอยู่ระหว่างการรอลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะประมูลโครงการฯว่า ปัจจุบันโครงการฯยังอยู่ระหว่างการฟ้องร้องของศาลปกครอง โดยสำนักงานคณะกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นว่าควรรอให้ศาลปกครองพิพากษาถึงที่สุดก่อนถึงจะดำเนินการต่อไปได้ 

ขณะนี้พบว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ได้มีการฟ้องร้องในศาลปกครอง จำนวน  3 คดี ประกอบด้วย 1. คดีที่ศาลปกครองสูงสุด BTSC ฟ้องการยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ไม่ชอบ ซึ่งคดีนี้ ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองสูงสุดแถลงว่า การยกเลิกการคัดเลือกเอกชนฯ ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว เห็นควรพิพากษากลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น ปัจจุบันรอรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

 

 2. คดีศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลางที่ กลุ่ม BTSC ฟ้องการแก้ RFP และยกเลิกการคัดเลือกฯ โดยทุจริต ซึ่งความคืบหน้าของคดีนี้คือ ศาลอาญาฯ พิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า การแก้ไข RFP เป็นไปเพื่อประโยชน์ของรัฐ ไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้ยื่นข้อเสนอรายใด และการยกเลิกการคัดเลือกฯ ไม่มีเจตนากลั่นแกล้ง BTSC หรือกระทำนอกขอบเขตของกฎหมาย ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และคดีนี้อยู่ระหว่าง BTSC ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์คำพิพากษา ทั้ง 2 คดี ศาลปกครองมีคำพิพากษาแล้วเสร็จ 

 

ส่วนอีก 1 คดี คือ 3. อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองกลาง กรณีที่ BTSC ฟ้องการคัดเลือกเอกชนฯ ครั้งใหม่ไม่ชอบ เพราะ RFP กีดกัน BTSC ซึ่งความคืบหน้าของคดี อยู่ระหว่างการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 1โดยศาลปกครองกลางมีคำสั่ง ยกคำร้องขอทุเลาการบังคับเนื่องจากเห็นว่า ประกาศเชิญชวนฯ และ RFP เป็นไปตามกฎหมายแล้ว RFP เปิดกว้างมากขึ้น ไม่มีลักษณะเป็นการตัดสิทธิหรือกีดกัน BTSC  นอกจากนั้นยังมีการขอทุเลาฯ ครั้งที่ 2 แต่ศาลไม่รับคำร้องขอทุเลาของ BTSC ซึ่งต้องรอว่าศาลปกครองจะพิพากษาดำเนินการอย่างไร

 

“เมื่อเราเป็นรัฐบาลจะต้องรอผลการตัดสินของศาลปกครองก่อน หากศาลพิพากษาแล้วให้ดำเนินการอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น เชื่อว่าโครงการนี้ต้องเดินหน้า ส่วนจะประมูลใหม่หรือลงนามสัญญากับเอกชนผู้ชนะการประมูลรายเดิมก็มีความเป็นไปได้ทั้ง 2 แนวทางขึ้นอยู่กับคำตัดสินชี้ขาดของศาลปกครอง” 

 

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวต่อว่า หลังจากที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายงานนั้น ซึ่งมีหลายโครงการที่เป็นประเด็นโดยเฉพาะเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้มและโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ผมมองว่าเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของรับบาลใหม่ต้องเข้ามาแก้ไขและเดินหน้าต่อไป

 

“ผมไม่กังวลในเรื่องประเด็นเหล่านี้ ยืนยันว่าการแบ่งงานนั้นเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันไม่ใช่เป็นกลุ่มนายทุน ซึ่งจะต้องแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆตามกระบวนการทำงานที่มีอยู่ แต่ยังคงอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามเดิม”  

 

สำหรับกรอบนโยบายคมนาคม เพื่อความอุดมสุขของประชาชน ซึ่งหมายถึงความสุขของประชาชนในทุกมิติ ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ,ด้านความปลอดภัย,ด้านการให้บริการที่เป็นมาตรฐานสากล และด้านการอนุรักษ์รักษสิ่งแวดล้อม  โดยการปฏิบัติงานของกระทรวงคมนาคมนับจากนี้ 

 

นอกจากนี้ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่จัดให้มี ระบบการคมนาคมขนส่งเท่านั้น  แต่ต้องตอบสนองความคาดหวังและความต้องการของรัฐบาลและประชาชนทั้งทางด้านการเดินทางและการใช้บริการ ที่เชื่อมโยงการให้บริการระบบคมนาคมขนส่งในทุกมิติ เป็นประตูการเดินทางและเป็นศูนย์กลางการเดินทางของภูมิภาค เพื่อส่งเสริม สมรรถภาพทางเศรษฐกิจด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และความมั่นคงของประเทศ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุด รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริม รักษา สิ่งแวดล้อม และให้มีการลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล ส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าเพื่อให้บริการในระบบขนส่ง