“สุริยะ” สั่งทอท.-ทย.หาข้อสรุปลงทุนสนามบินพังงา 8 หมื่นล้าน

11 ก.ย. 2566 | 11:03 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ย. 2566 | 13:52 น.

“สุริยะ” จ่อเรียกทอท.-ทย. ศึกษาหาข้อสรุปลงทุน “สนามบินพังงา” ลดแออัดสนามบินภูเก็ต ด้าน“บางกอกแอร์เวย์ส” ลั่นถ้าทอท.ไม่ลงทุน พร้อมลงทุนเอง ขณะที่สมาคมสายการบิน เตรียมขอเข้าพบรมต. เสนอแนวทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถของสนามบินภูมิภาค เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินที่โตแบบก้าวกระโดดว่า หลังจากที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายจะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการบินกลับมาคึกคัก

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

หลายๆสนามบินประสบปัญหาเนื่องจากในช่วงที่การบินซบเซา ยังไม่ได้มีการเตรียมการ ที่จะขยายสิ่งอำนวยความสะดวกในสนามบิน รวมถึงขยายขีดความสามารถสนามบินเพื่อรองรับการเติบโต ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจึงมีแนวคิดที่จะให้ขยายขีดความสามารถสนามบินในภูมิภาค

โดยจะมอบให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. และกรมท่าอากาศยาน (ทย.)ไปศึกษาความจำเป็นในการขยายท่าอากาศยานที่มีอยู่ในปัจจุบัน และการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อรองรับปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะท่าอากาศยานภูเก็ต ที่ปัจจุบันมีข้อจำกัดในการขยายสนามบิน ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก

ทั้งนี้หากไม่สามารถขยายได้ ก็จำเป็นต้องมีสนามบินภูเก็ต แห่งที่ 2 (สนามบินพังงา) ซึ่งที่ผ่านมาทราบว่าเคยมีการศึกษาถึงพื้นที่ที่เหมาะสมแล้วพบว่า พื้นที่บริเวณ ต.โคกกลอย จ.พังงา มีความเหมาะสม ส่วนรูปแบบการดำเนินงานจะให้เอกชนเข้ามาร่วมทุน หรือให้ ทอท. หรือ ทย. เป็นผู้ดำเนินการ ขอศึกษารายละเอียดเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน  

ขณะที่นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยสำหรับในส่วนของการพัฒนา สนามภูเก็ตก็จะมีการขยายอาคารผู้โดยสารสนามบินภูเก็ตจากปัจจุบันรองรับได้ 12 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี วงเงิน 10,000 ล้านบาทเสร็จในปี 2568 และในช่วงที่เราปรับปรุงสนามบินภูเก็ต ก็จะศึกษา สร้างสนามบินแห่งใหม่ที่ จ.พังงา รับผู้โดยสารได้ 20 ล้านคน คาดว่าใช้ เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เพื่อช่วยแบ่งเบาสนามบินภูเก็ต

กีรติ กิจมานะวัฒน์

ด้านพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA กล่าวว่า บริษัทฯยังคงมีความสนใจลงทุนสนามบินพังงา บริเวณโคกกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่เดียวกันกับที่ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ก็มองพื้นที่นี้ไว้เช่นกัน

ดังนั้นเราคงต้องรอดูข้อสรุปว่าทาง ทอท. จะเป็นผู้ลงทุนพัฒนาสนามบินพังงาหรือไม่ ถ้าทอท.ไม่ลง เราก็พร้อมลงทุน แต่หาก ทอท.ยืนยันว่าจะลงทุน บางกอกแอร์เวย์สก็รอทำการบินอย่างเดียว เพื่อเปิดเส้นทางบินใหม่ รองรับการเดินทางเข้า จ.พังงา เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพสูง นักท่องเที่ยวนั่งเครื่องบินเข้าสนามบินภูเก็ตแล้วเลือกเดินทางตรงไปพังงาก็มีจำนวนมาก

พุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ

รวมทั้งหลังโควิด-19 มีสายการบินต่างๆ ประมาณ 6-8 ราย เลือกเปิดเส้นทางระหว่างประเทศบินตรงเข้าภูเก็ตเพิ่มมากขึ้น จากเดิมให้บริการแค่เส้นทางบินตรงสู่กรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ท่าอากาศยานภูเก็ตมีข้อจำกัดที่มีเพียงทางวิ่ง (รันเวย์) เดียว ไม่สามารถสร้างรันเวย์เพิ่มได้อีก จึงทำให้ขีดความสามารถในการรองรับปริมาณเที่ยวบินไม่สามารถเพิ่มได้มาก โดย 1 ชั่วโมง รับได้ประมาณ 15 เที่ยวบิน ดังนั้นหากมีการก่อสร้างสนามบินพังงา จะช่วยแบ่งเบาความหนาแน่นของสนามบินภูเก็ต ซึ่งเป็นหนึ่งในเกตเวย์สำคัญของประเทศไทย

นอกจากนี้ทางสมาคมสายการบินประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 7 สายการบิน ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส, ไทยแอร์เอเชีย, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, นกแอร์, ไทยสมายล์, ไทยไลอ้อนแอร์ และไทยเวียตเจ็ท เตรียมขอเข้าพบนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เพื่อรับฟังนโยบาย และประชุมหารือให้ข้อเสนอแนะในการผลักดันนโยบายต่างๆ เพื่อฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบิน และฟื้นธุรกิจการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

      ส่วนกรณีที่รมว.คมนาคม มีนโยบายเพิ่มเวลาการบิน (สลอต) ให้สายการบินเพิ่มมากขึ้น  เพื่อรองรับความต้องการในการเดินทางทางอากาศที่เพิ่มสูงขึ้น คงต้องมาศึกษาพิจารณาว่าสลอตที่ได้รับเพิ่มมีรายละเอียดอย่างไร และเป็นสลอตช่วงเวลาใดบ้าง ซึ่งปัจจุบันช่วงเวลา 07.00-08.00 น. สลอตค่อนข้างหนาแน่นมาก มีปริมาณการเดินทางสูง จากนั้นช่วงเวลา 10.00-11.00 น. เป็นต้นไป สลอตจะเริ่มเบาบางลง จนกระทั่งเริ่มหนาแน่นอีกครั้งในช่วงเวลาเย็น ดังนั้นหากสลอตที่ได้รับมาเพิ่มในช่วงที่มีความต้องการในการเดินทางสูงก็จะเกิดประโยชน์มาก