ชงครม.เคาะผลศึกษา สร้างท่าเรือบกขอนแก่น-นครราชสีมา

19 ก.ย. 2566 | 08:59 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2566 | 08:59 น.

“กทท.” ลุยศึกษาสร้าง 2 ท่าเรือบกขอนแก่น-นครราชสีมา 1.4 พันล้านบาท เล็งชงครม.ไฟเขียวผลศึกษาร่วมทุนเอกชน ภายในปี 67 ฟากท่าเรือบกฉะเชิงเทรา ส่อล่ม ติดหล่มเวนคืน หวั่นกระทบไอซีดีลาดกระบัง

นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยความคืบหน้าดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ว่า เบื้องต้นกทท.มีแผนนำร่องโครงการฯในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จ.ขอนแก่น และ จ.นครราชสีมา ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบความเป็นไปได้ในการลงทุนของโครงการฯ โดยใช้ระยะเวลาการศึกษาประมาณ 7 เดือน คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในไตรมาส 1 ปี 2567 หรือภายในกลางปี 2567  

 

“ส่วนจะเสนอโครงการต่อกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบได้เมื่อไรนั้น ขึ้นอยู่กับผลการศึกษาในครั้งนี้ ซึ่งจะพิจารณาจากการลงทุนในรูปแบบการเปิดประมูล PPP หรือเชิญภาคเอกชนร่วมลงทุนโดยมีกทท.เป็นแกนนำเพื่อดำเนินการ หลังจากนั้นจะเสนอผลการศึกษาของโครงการได้ภายในปี 2567 คาดว่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2568 และเปิดให้บริการได้ภายในปี 2572” 
 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า แนวโน้มของโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) จะใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หรือไม่นั้น ต้องพิจารณากรอบระยะเวลาด้วย เพราะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.ร่วมทุนฯ (PPP)  เบื้องต้นมีภาคเอกชนส่วนใหญ่เล็งเห็นว่าการพัฒนาท่าเรือบกควรมีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัว โดยกทท.อาจเป็นผู้ดำเนินการและให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน ซึ่งกทท.จะต้องพิจารณาข้อดีและข้อเสียรูปแบบในเรื่องนี้ รวมทั้งระยะเวลาการลงทุนให้สั้นลงเพื่อให้โครงการเกิดความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

 

ทั้งนี้การพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) นั้นต้องเป็นจุดศูนย์กลางในการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากระบบถนนและระบบรางสู่รูปแบบการขนส่งสินค้าทางน้ำ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ส่วนสาเหตุที่กทท.ได้เลือกพื้นที่ จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากพื้นที่ในจังหวัดขอนแก่นมีซับพพลายและดีมานด์ที่มีสินค้าเกษตรค่อนข้างมาก อีกทั้งเป็นจังหวัดที่เป็นจุดศูนย์กลางในการขนส่งสินค้าในภูมิประเทศที่สามารถเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว 
 

นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า การลงทุนท่าเรือบก จะต้องพิจารณาระยะทางในการลงทุนโครงการฯเพื่อเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าด้วย ซึ่งควรมีระยะทางอยู่ที่ 300-500 กิโลเมตร (กม.) พบว่า ประเทศสปป.ลาวมีการพัฒนาท่าเรือบกแล้วเสร็จอยู่ที่บริเวณท่านาแร้ง มีระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร (กม.) ส่วนการพัฒนาท่าเรือบกในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเชื่อมต่อกับท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี มีระยะทางไม่เกิน 500 กิโลเมตร (กม.) ทำให้สภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดขอนแก่นสามารถยกระดับเป็นท่าเรือบกระหว่างประเทศ (International Dry Port) ได้ แต่หากพื้นที่การพัฒนาโครงการอยู่ใกล้เกินไปจะทำให้การลงทุนไม่เกิดความคุ้มค่า

 

ขณะที่พื้นที่ในจังหวัดนครราชสีมานั้น กทท.มองว่า เป็นจังหวัดใหญ่มีพื้นที่สินค้าเกษตรค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นจังหวัดที่เป็นศูนย์รวมการขนส่งสินค้าในแถบภาคอีสานตอนใต้ สามารถเชื่อมต่อกับประเทศสปป.ลาวตอนใต้และเมียนมา ถือเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและมีจุดแข็งที่สามารถดำเนินการโครงการฯได้ 

ชงครม.เคาะผลศึกษา สร้างท่าเรือบกขอนแก่น-นครราชสีมา

สำหรับท่าเรือบก จังหวัดขอนแก่น ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโนนพยอม ต.ม่วงหวาน อ.นํ้าพอง จ.ขอนแก่น ใช้พื้นที่ 1,500-2,000 ไร่ ส่วน จ.นครราชสีมา อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ที่มีความเหมาะสม โดยผลการศึกษาในอดีต ตำแหน่งที่ตั้งอยู่ที่ ต.กุดจิก อ. สูงเนิน จ.นครราชสีมา แต่ปัจจุบันพบว่า พื้นที่ดังกล่าวมีสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น จึงพิจารณาพื้นที่ใหม่ที่มีความเหมาะสม และมีศักยภาพมากกว่าพื้นที่เดิม เพราะต้องพิจารณาพื้นที่โดยรอบให้ครอบคลุมกับการขนส่งทางถนนและทางราง

 

ส่วนโครงการท่าเรือบก จังหวัดนครราชสีมา มีการเสนอทำเลที่ตั้งใหม่ คือ บริเวณสถานีรถไฟบ้านกระโดน ต.หนองไข่นํ้า อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งติดกับสถานีรถไฟและถนน รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยประสบปัญหานํ้าท่วมด้วย แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่า จะใช้พื้นที่เดิมหรือพื้นที่ใหม่ โดยต้องพิจารณาให้เหมาะสม เนื่องจาก จ.นครราชสีมา เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) ตอนล่าง มีการขนส่งสินค้าเกษตรจำนวนมาก

 

ที่ผ่านมากทท.ได้ประเมินว่ามูลค่าการลงทุนท่าเรือบก เบื้องต้นจะใช้เงินลงทุนประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อพื้นที่ต่อระยะดำเนินการ (เฟส) ส่วนรูปแบบการลงทุนโครงการดังกล่าว จะพิจารณา 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. รูปแบบรัฐร่วมลงทุนกับเอกชน (Public Private Partnerships หรือ PPP) โดย กทท. ลงทุนทั้งหมด ซึ่งข้อดีรูปแบบ PPP คือ การบริหารจัดการและการใช้ประโยชน์ แต่มีข้อเสีย คือ ใช้ระยะเวลาดำเนินการค่อนข้างนาน 

 

 2. รูปแบบการจัดตั้งบริษัทฯ และเชิญภาคเอกชนเข้ามาถือหุ้น ซึ่งรูปแบบนี้จะเพิ่มความน่าสนใจให้เกิดการลงทุนมากขึ้น โดยจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด และ กทท. จะเป็นแกนกลางดำเนินงาน คล้ายการจัดตั้งสายเดินเรือแห่งชาติ ซึ่งทำให้เกิดการดำเนินการเร็วที่สุด 

 

นอกจากนี้โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) ในจังหวัดฉะเชิงเทรา บนพื้นที่ราว 1,000 ไร่ ปัจจุบันพบว่าพื้นที่ดังกล่าวยังติดข้อจำกัดเรื่องการเวนคืนที่ดิน เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทราอยู่ในเขตพื้นที่ของอีอีซี อีกทั้งในปัจจุบันมีการเปิดให้บริการบริเวณสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ย่านลาดกระบัง ซึ่งมีระยะทางไม่เกิน 100 กิโลเมตร (กม.) ทำให้กทท.ไม่อยากให้เกิดการแข่งขันระหว่างกัน โดยกทท.คาดว่าในพื้นที่เชิงเทราอาจจะต้องชะลอโครงการฯออกไปก่อน เพราะต้องดูความพร้อมของประชาชนในพื้นที่ด้วย