นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยว่า สำหรับแผนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะมีการพัฒนาระบบขนส่งทางราง เพื่อเพิ่มศักยภาพขนส่งสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ให้ได้มากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังขนสินค้าผ่านระบบรางเพียง 7% ของการขนส่งสินค้าทั้งหมด เป้าหมายจะผลักดันให้เพิ่มเป็น 30% เทียบเท่าเท่าเรือมาตรฐานสากล
“อนาคตท่าเรือแหลมฉบังจะต้องมีการพัฒนาท่าเรือบก เพื่อขยายพื้นที่ของท่าเรือในการตรวจสอบสินค้าคตู้คอนเทนเนอร์ ทำกระบวนการศุลกากรให้แล้วเสร็จ เหมือนบกท่าเรือแหลมฉบังไปไว้ ถ้าทำได้เช่นนี้การขนส่งคอนเทนเนอร์เข้ามาท่าเรือแหลมฉบังจะสะดวก รวดเร็ว และมากกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ 18 ล้านตู้ต่อปี”
ขณะเดียวกันบริเวณท่าเรือแหลมฉบังยังมีแผนพัฒนาท่าเรือบก (DryPort) จัดตั้งศูนย์รับส่งตู้คอนเทนเนอร์ ให้การขนส่งสินค้าจากต่างประเทศสามารถเช็คสินค้า เปิดตู้คอนเทนเนอร์ ตรวจสอบตามขั้นตอนกรมศุลกากรให้แล้วเสร็จ บริการครอบคลุมเสมือนมีท่าเรืออยู่ในพื้นที่นั้นๆ ก่อนจะส่งตู้คอนเนอร์ผ่านระบบรางมายังท่าเรือแหลมฉบัง
เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน กทท.ได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) พัฒนาท่าเรือบก กับ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ใน สปป.ลาว เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเป็นโอกาสในการขนส่งสินค้าที่จะเกิดขึ้นจากการใช้เส้นทางรถไฟลาว - จีนด้วย
ทั้งนี้สกพอ.ยังมีเป้าหมายในการพัฒนาท่าเรือบกในพื้นที่ใกล้เคียงท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นการขยายพื้นที่บริการท่าเรือ และเพิ่มศักยภาพการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ให้สะดวก รวดเร็ว และจำนวนมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนของ กทท.ที่อยู่ระหว่างศึกษาพัฒนาท่าเรือบก โดยก่อนหน้านี้มีผลการศึกษาคัดเลือกพื้นที่เหมาะสม อาทิ จังหวัดขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์
“ที่ผ่านมากทท.มีแผนพัฒนาท่าเรือบกอยู่แล้ว แต่ทางอีอีซีมองว่าจะเป็นโอกาสอย่างมาก หากหาพื้นที่พัฒนาท่าเรือบกได้ใกล้เคียงกับท่าเรือแหลมฉบัง เพราะจะถือเป็นการขยายพื้นที่บริการท่าเรือ แต่เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษา หากจะพัฒนาก็ต้องหาพื้นที่ขนาดใหญ่ 500 – 1,000 ไร่”
อย่างไรก็ตามท่าเรือแหลมฉบัง ปัจจุบันมีศักยภาพรองรับตู้สินค้า 11 ล้านทีอียูต่อปี เมื่อพัฒนาท่าเรือ F แล้วเสร็จ จะเพิ่มศักยภาพรับตู้สินค้าเป็น 18 ล้านทีอียูต่อปี แบ่งออกเป็น ท่าเรือ F1 (เฟสแรก) เปิดให้บริการภายในปี 2568 จะรองรับปริมาณการขนส่งได้ประมาณ 2 ล้านทีอียูต่อปี และท่าเทียบเรือ F2 (เฟส2) จะแล้วเสร็จภายในปี 2572 รองรับปริมาณการขนส่งได้เพิ่มเติมอีกราว 2 ล้านทีอียูต่อปี อีกทั้งยังมีการพัฒนาระบบขนส่งทางรางที่จะรองรับขนถ่ายตู้สินค้าสูงสุด 6 ล้านทีอียูต่อปี