นายยุทธ ชินสุภากุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีสเทอร์น พาวเวอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EP) เปิดเผยว่า โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม หรือ วินด์ฟาร์ม ที่ EP ไปลงทุนในประเทศเวียดนาม มีทั้งหมด 4 โครงการใน 2 เมือง กำลังการผลิตรวม 160 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 223.10 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,040.92 ล้านบาท ซึ่ง EP ได้ประกาศลงทุนไปตั้งแต่ปี 2563 ก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2564 แต่ด้วยปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โครงการต้องชะลอเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ COD ออกไปก่อน แต่ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ (2566) EP กำลังจะเป็นบริษัทไทยรายแรกหลังการระบาดของโควิด 19 ที่จะได้เเริ่ม COD แล้ว
โครงการวินด์ฟาร์มเวียดนามของ EP ประกอบด้วย
โครงการกังหันลมที่จังหวัด กว๋างจิ (Quang Tri) รวม 2 แห่ง ชายฝั่งตอนกลางเหนือของประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 60 เมกะวัตต์
โครงการกังหันลมที่จังหวัด ยาลาย (Gia Lai) รวม 2 แห่ง เป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม กำลังการผลิตรวม 100 MW
โดยขณะนี้โครงการทั้งหมดได้ดำเนินการเชื่อมสายส่งของทุกโครงการ รวม 160 เมกะวัตต์ เข้ากับสถานีไฟฟ้าย่อย Dien Hong และ Chu Se ของการไฟฟ้าเวียดนาม (EVN) เรียบร้อย และโครงการได้เริ่มทดลองเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าตามข้อกำหนดของ EVN แล้ว
สำหรับโครงการ HL3 และ HL4 ที่จังหวัด Quang Tri รวม 60 เมกะวัตต์ จะทยอยเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ (66) คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ราว 13.3 ล้านดอลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนโครงการ TN และ MN ที่ Gia Lai รวม 100 เมกะวัตต์ จะ COD ภายในเดือน พฤศจิกายนนี้ สร้างรายได้อยู่ที่ 22 ล้านดอลาร์สหรัฐต่อปี โดยการไฟฟ้าเวียดนามรับซื้อในราคาปัจจุบันอยู่ที่ 1587.12 VND/kWh หรือ 0.0675 USD/kWh ซึ่งยังไม่ใช่ราคาตามมาตรการส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน หรือ FIT ที่จะมีการพิจารณาอีกครั้งในปีหน้า หากมีการปรับราคา ก็จะส่งผลต่อรายได้ของบริษัท
“หลัง COD แล้วก็จะรับรู้รายได้ทันที ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ในปีนี้ของ EP คาดว่าน่าจะเข้ามาเพิ่มขึ้น 283.89 ล้านบาท และในปี 2567 จะเข้ามาอีกราว 1,135.56 ล้านบาท ซึ่งปี 66-67 การไฟฟ้าเวียดนามจะจ่ายเพียงครึ่งเดียวก่อน และหลังจาก ปี 2568 เป็นต้นไป จะจ่ายเต็มจำนวนจนถึงปี 2586 มั่นใจได้ว่ารายได้รวมปี 2566 จะเติบโตกว่า 50% ตามเป้าแน่นอน โดยรายได้จากส่วนนี้ก็จะทำไปใช้จ่ายเงินคืนให้กับหุ้นกู้ที่ออกมาล่าสุดด้วย”
นายยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาธุรกิจใหม่ หลังได้เริ่มเปิดฉากเจรจากับบริษัทพันธมิตรด้านพลังงานจากยุโรป เพื่อดำเนินธุรกิจพลังงานทางเลือก ‘กรีนไฮโดรเจน’ ในประเทศไทย ซึ่งจะดำเนินธุรกิจในลักษณะการร่วมทุนตั้งโรงงานผลิตไฮโดรเจน และ EP จะติดตั้งระบบโซลาร์ฟาร์มเพื่อส่งไฟฟ้าให้กับโรงงานดังกล่าวในราคาถูก ตั้งโรงงานไม่ใกล้ไม่ไกลจากท่าเรือแหลมฉบังเพื่อง่ายต่อการขนส่ง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปี 2568
“เราอาจจะถือหุ้นในโรงงานแห่งนี้ซัก 10-15% และเน้นการส่งพลังงานไฟฟ้าให้กับโรงงานแทน ซึ่งดีลนี้สำเร็จก็จะเป็นโรงงานกรีนไฮโดรเจนแห่งแรกของไทย ซึ่งเดิมที เขาอยากจะไปเปิดที่เวียดนาม แต่ติดปัญหาหลายด้าน เราจึงเสนอตัวเข้าช่วยเหลือร่วมกันลงทุน เขาก็ดูสนใจมาก นอกจากนี้ผมก็ยังสนใจธุรกิจพลังงานจากความร้อนใต้พิภพด้วยนะ”