รัฐบาลมีนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดยจะเปิดให้บริการ 2 สายก่อน คือสายสีแดงและสายสีม่วง มาดูกันว่าในปัจจุบันรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้ขนผู้โดยสารวันละเท่าไหร่ มีรายได้มากน้อยเพียงใด สายสีแดงหรือสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า ?
ดร.สามารถราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์โฟสเฟซบุ๊ก เปิดตัวเลขโครงการลงทุนรถไฟฟ้าทั้งสองเส้นทางและการให้บริการเดินรถเมื่อวันที่23กันยายนนี้เริ่มจาก
1. รถไฟฟ้าสายสีแดง
รถไฟฟ้าสายสีแดงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีเส้นทางจากบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26 กิโลเมตร และจากบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15 กิโลเมตร รวมระยะทางทั้งหมด 41 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 12-42 บาท
จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีแดงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า
(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 19,611 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 0.59 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 1.31 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 0.72 ล้านบาท
2. รถไฟฟ้าสายสีม่วง
รถไฟฟ้าสายสีม่วงเป็นการลงทุนทั้งหมดโดยการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีเส้นทางจากเตาปูน-บางใหญ่ ระยะทาง 23 กิโลเมตร ค่าโดยสารในปัจจุบัน 17-42 บาท
จากข้อมูลการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วงระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2566 พบว่า
(1) ผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวัน 56,255 คน
(2) รายได้เฉลี่ยต่อวัน 1.41 ล้านบาท
(3) ค่าจ้างบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาต่อวัน 7.39 ล้านบาท
(4) ขาดทุนเฉลี่ยต่อวัน 5.98 ล้านบาท
3. ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีแดงและสายสีมวงขาดทุนรวมกันวันละเกือบ 7 ล้านบาท !
รถไฟฟ้าสายสีแดงขาดทุนวันละ 0.72 ล้านบาท ในขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วงขาดทุนมากกว่า โดยขาดทุนถึงวันละ 5.98 ล้านบาท รวมทั้งสองสายขาดทุนวันละ 6.7 ล้านบาท
4. ถ้าเก็บ 20 บาท ตลอดสาย จะขาดทุนหนักขึ้น !
รมว.คมนาคม บอกว่าจะเร่งผลักดันรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย เฉพาะสายสีแดงและสายสีม่วงเป็นสายนำร่องให้ได้ภายใน 3 เดือน เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 ให้ผู้โดยสาร กรณีนี้หากผู้โดยสารจ่าย 20 บาท เพื่อใช้สายสีแดง (หรือสายสีม่วง) เมื่อเปลี่ยนไปใช้สายสีอื่นจะต้องจ่ายค่าโดยสารเพิ่มขึ้นตามอัตราค่าโดยสารของสายนั้นๆ
การเก็บ 20 บาท ตลอดสาย แต่ไม่สามารถใช้ข้ามสายได้ จะไม่ทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นมาก และจะสร้างความไม่พอใจให้กับผู้โดยสารที่ในปัจจุบันจ่ายค่าโดยสารต่ำกว่า 20 บาท โดยเฉพาะผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจ่ายเริ่มต้นเพียง 12 บาท เท่านั้น
เมื่อมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นไม่มาก รายได้จากค่าโดยสารก็จะต่ำกว่าเดิม เป็นผลให้รถไฟฟ้าทั้งสองสายขาดทุนหนักขึ้น
5. สรุป
ผมเห็นด้วยกับการทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าถูกลง แต่ก่อนเริ่มใช้ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย รมว.คมนาคม จะต้องรู้ว่ารัฐจะต้องสูญเสียรายได้ไปเท่าไหร่ ? คุ้มหรือไม่กับประโยชน์ที่จะได้รับจากการมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ? และที่สำคัญ จะมีผู้ใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นกี่คน ?