นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(สกพอ.) หรืออีอีซี เปิดเผยว่า เดือนตุลาคมนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรกของรัฐบาลชุดนี้ทั้งระดับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เป็นกรรมการอีก 14 คน
ทั้งนี้ วาระหลักคือการพิจารณาแนวทางขับเคลื่อนอีอีซี (EEC) ใน 100 วันจะมีแผนงานอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น อีอีซีจะสามารถออกใบอนุญาตแทนหน่วยงานต่างๆได้ถึง 44 ใบอนุญาตจากกฎหมาย 13 ฉบับ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
ซึ่งการอนุญาตจะทั้งให้อีอีซีดำเนินการเบ็ดเสร็จ และรูปแบบดึงหน่วยงานต้นทางเข้ามาร่วมออกใบอนุญาต แนวทางจะสร้างความสะดวกให้กับนักลงทุนซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนครั้งใหญ่
นอกจากนี้ จะเสนอแผนงานอีอีซีแผนระยะที่ 2 (2566 -70) หรือ 5 ปีข้างหน้าที่ตั้งเป้ามูลค่าลงทุนในอีอีซี 2.2 ล้านล้านบาท โดยจะมุ่งเน้นดึงการลงทุนจาก 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ การแพทย์ขั้นสูง ,ดิจิทัล ,ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ,บีซีจี (BCG) และบริการ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวจะมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอำนาจการอนุญาตทั้ง 44 ใบอนุญาต
อย่างไรก็ดี ล่าสุดอีอีซีได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะและรถรับส่งพนักงานในอีอีซีร่วมกับ 6 หน่วยงาน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีในพื้นที่อีอีซี
โดยคาดว่าในปี 2566 จะเกิดรถโดยสารไฟฟ้าอย่างน้อย 100 คัน พร้อมสถานีชาร์จ ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 5 พันตันต่อปี เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และพัฒนาวัตถุดิบสินค้าในประเทศเพิ่มขึ้นจาก 40% เป็น 60% สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 360 ล้านบาท
นายสุวิทย์ ธรณินทร์พานิช ประธานกรรมการมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ตั้งเป้าหมายในระยะ 5 ปี จะเพิ่มรถโดยสารไฟฟ้า 6,000 คัน แต่ในภาพใหญ่ของทั้งประเทศคาดว่าภายใน 2 ปี หากปรับเปลี่ยนมาใช้รถโดยสารไฟฟ้าได้ 10,000 คันทั้งประเทศ จะมีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 60,000 ล้านบาท เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศมากกว่า 48,000 ล้านบาท ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ 5 แสนตันต่อปี ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถโดยสารไฟฟ้าในภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันอินโดนีเซียถือเป็นฐานการผลิตรายใหญ่ของภูมิภาค