“บัญชีม้า” คำนี้กลับมาสร้างความฮือฮาอีกครั้ง เป็นเพราะเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ตำรวจไซเบอร์ นำหมายศาลไปบุกค้นบ้าน “บิ๊กโจ๊ก” หรือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) เพื่อขอตรวจค้นและจับกุมลูกน้องคนใกล้ชิดซึ่งถูกกล่าวหาเกี่ยวข้องกับ “บัญชีม้า” เนื่องจากพบว่ามีเส้นทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์พนันออนไลน์
ตำรวจได้ออกหมายจับผู้ที่เกี่ยวข้องเว็บไซต์พนันออนไลน์ จำนวน 23 คน แบ่งเป็นพลเรือน 15 คน และ ตำรวจคนใกล้ชิดของ บิ๊กโจ๊ก จำนวน 8 คน ถูกจับและได้ประกันตัวไปแล้ว รายชื่อที่ปรากฏดังนี้
ล่าสุด พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ลงนามในเอกสารคำสั่ง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 553 /2566 เรื่อง ให้ข้าราชการตำรวจปฏิบัติราชการและรักษาราชการแทน ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อาคาร 1 ชั้น 20 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ทางตำแหน่งเดิม เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบหมาย (ตามที่ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รายงานไปก่อนหน้านี้)
แม้ บิ๊กโจ๊ก เป็น 1 ใน 4 ตัวเต็งที่รั้งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือ ผบ.ตร. ซึ่ง บิ๊กโจ๊ก เปิดเผยว่า ไม่คิดจะชิงเก้าอี้ ผบ.ตร.จากผู้อาวุโสลำดับที่ 1 แต่คดีที่ตำรวจคนใกล้ชิดถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องเปิด “บัญชีม้า” และ พัวพันเปิดเว็บพนันออนไลน์ ส่งผลให้ บิ๊กโจ๊ก ในฐานะอาวุโสอันดับ 2 หลุดโผตำแหน่ง ผบ.ตร. เพราะคนใกล้ชิด โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ต.ร.) มีจำนวน 16 คน โดย 4 คน ซึ่งเป็นแคนดิเดต ไม่สามารถลงคะแนนได้ เหลือลงคะแนน 12 คน ปรากฏว่าผลโหวตลงมติ 9:1 เสียง เลือก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. อาวุโสลำดับที่ 4 เป็นผู้บัญชาการแห่งชาติคนที่ 14
1 เสียง ไม่เห็นชอบ
งดออก 2 เสียง
บัญชีม้า คือ บัญชีที่ถูกเปิดเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง เช่น นำไปใช้ทำเรื่องผิดกฎหมาย หรือเอาไว้ใช้สำหรับถ่าย เท หรือใช้ในการฟอกเงิน โดยบัญชีม้าคนที่ถือครองบัญชีมักจะไม่ใช้เจ้าของตัวจริง แต่จะเป็นของมิจฉาชีพนำไปใช้ ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพจะใช้วิธีการจ้างวานคนทั่ว ๆ ไปให้ทำการเปิดบัญชีธนาคาร โดยให้เงินค่าจ้างแล้วแต่ตกลงกัน ซึ่งส่วนใหญ่มิจฉาชีพมักมองหาเหยื่อที่อยู่ในช่วงวัยรุ่น หรือคนสูงอายุ เพราะใช้เงินเป็นตัวหลอกล่อให้ตกหลุมพราง หรืออีกวิธีก็คือการสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชี โดยการขโมยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ และหมายเลขบัตรประชาชนจำนวน 13 หลัก แล้วนำไปเปิดบัญชีออนไลน์ กว่าจะเจ้าของข้อมูลจะรู้ตัว ก็สายไปเสียแล้ว
พระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ที่มา: สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม