เปิดคำพิพากษา เพิกถอน น.ส. 3 ก. ก่อนกรมที่ดินชดใช้ “ธนาธร” 4.9 ล้าน

29 ก.ย. 2566 | 07:45 น.
อัพเดตล่าสุด :29 ก.ย. 2566 | 08:21 น.

เปิดคำพิพากษา ศาลปกครองกลาง ให้กรมที่ดินชดใช้ค่าเสียหาย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” 4.9 ล้านพร้อมดอกเบี้ย กรณีออกคำสั่งเพิกถอน น.ส. 3 ก. จังหวัดราชบุรี เหตุจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ภายหลัง ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้ กรมที่ดิน ชดใช้ค่าเสียหาย 4,912,311.21 บาท พร้อมดอกเบี้ย ในอัตรา 3% ต่อปี บวกด้วยอัตราเพิ่ม 2% ต่อปี ให้แก่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กรณีออกคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ในพื้นที่ ตำบลด่านทับตะโก อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน และเนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา ตามลำดับ ของ นายธนาธร

โดยศาลฯ เห็นว่า แม้คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ที่ให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 นั้น จะเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจาก ธนาธร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ได้ซื้อที่ดิน น.ส.3 ก. ดังกล่าว โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และได้รับความเสียหาย

ดังนั้นการที่นายอำเภอจอมบึง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ดำเนินการออกหนังสือ น.ส.3 ก. ไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญ และความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดินดังกล่าว ว่า เป็นที่ดินที่ต้องห้ามออกหนังสือ น.ส. 3 ก. ตามกฎหมายหรือไม่ 

โดยได้ออกหนังสือ น.ส.3 ก. เลขที่ 158 ให้แก่ นายอุดม กิตติอุดมพาณิช และออกหนังสือ น.ส.3 ก. เลขที่ 159 ให้แก่ นายชัยณรงค์ บู่ศรี เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2521 ตามโครงการเดินสำรวจโดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามตามกฎหมาย

ต่อมา นายอุดม กิตติอุดมพาณิช และ นายชัยณรงค์ บู่ศรี ได้จดทะเบียนขายทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่ บริษัท ไร่อ้อยมิตรผล จำกัด เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2528 หลังจากนั้น บริษัท ไร่อ้อยมิตรผล จำกัด ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ นายสาโรจน์ วสุวานิช เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2534 และนายสาโรจน์ วสุวานิช ได้ขายรวมสองแปลงดังกล่าวให้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2543 

ดังนั้น กรมที่ดิน จึงต้องรับผิดในผลแห่งละเมิด อันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของนายอำเภอจอมบึง จึงพิพากษาให้กรมที่ดิน ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน 4.9 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว 

 

เปิดคำพิพากษา เพิกถอน น.ส. 3 ก. ก่อนกรมที่ดินชดใช้ “ธนาธร” 4.9 ล้าน

 

สำหรับคำพิพากษาในคดีดังกล่าว มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ 

กรณี คำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ที่ให้เพิกถอน น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของผู้ฟ้องคดี (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (ปลัดกระทรวงมหาดไทย) ซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดินที่ มท 0516.5(2)/14696 ลงวันที่ 12 ก.ค.2565 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ทั้งนี้ มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ตำแหน่งที่ดิน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี หมายเลข 85 ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 หรือไม่

จากการตรวจสอบตำแหน่งที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้และหน่วยงานในพื้นที่ ได้ร่วมกันตรวจสอบตำแหน่งที่ดินตามหลักวิชาการที่ดินและหลักวิชาการแผนที่ โดยได้ทำการตรวจสอบข้อมูลตำแหน่งค่าพิกัดในพื้นที่จริง และดำเนินการย้ายตามรูปแปลงเพื่อกำหนดแนวเขตป่าแล้วปรากฏว่า 

ที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี ออกตามโครงการเดินสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2521 อยู่ในบริเวณแนวเขตที่ดิน ซึ่งมติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 ได้กำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี หมายเลข 85 ต่อมาได้กำหนดให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1,069 (พ.ศ.2527) ออกตามความใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 

แม้มติ ครม.จะมิใช่กฎหมาย แต่ มติ ครม.ดังกล่าว เป็นมติที่เกี่ยวกับการสงวนที่ดินให้คงไว้เพื่อป่าไม้อันถึงได้ว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหนึ่ง ดังนั้น สถานะของที่ดิน จึงเป็นป่าไม้ถาวรโดยผลทางกฎหมายแล้ว จึงเป็นที่ดินต้องห้ามมิให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการออกโฉนดที่ดินโดยเดินสำรวจ ตามมาตรา 58 หรือการออกโฉนดที่ดินเป็นการเฉพาะราย ตามมาตรา 59 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินก็ตาม

อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากแผนที่แสดงตำแหน่งแปลงที่ดินตามหลักฐาน น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 มาตราส่วน 1 : 30,000 ระวาง 4836 II 5006 ตามเอกสารท้ายคำให้การหมายเลข 18 ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 แล้ว เห็นว่า ที่ดินตามหลักฐาน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ของผู้ฟ้องคดี อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี ตาม มติ ครม. เมื่อวันที่ 18 ก.พ.2512 ทั้ง 2 แปลง

จึงต้องห้ามมิให้ออก น.ส.3 ก. ตามข้อ 3 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) และข้อ 8 (2) ของกฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความ พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

กรณีจึงฟังได้ว่า ที่ดินตามหลักฐาน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ที่ออกตามโครงการเดินสำรวจเมื่อปี พ.ศ.2521 อยู่ในเขตป่าไม้ถาวร จึงเป็นการออก น.ส. 3 ก. โดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งรองอธิบดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (อธิบดีกรมที่ดิน) มอบหมาย มีอำนาจตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มีอำนาจสั่งเพิกถอน น.ส. 3 ก. ได้

ดังนั้น คำสั่งอธิบดีกรมที่ดิน ที่ 747/2565 ลงวันที่ 29 มี.ค.2565 ให้เพิกถอน น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ด้วยเหตุนี้ เมื่อคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ซึ่งแจ้งตามหนังสือกรมที่ดิน ลงวันที่ 12 ก.ค.2565 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี โดยอาศัยข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และการใช้ดุลพินิจเช่นเดียวกัน จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน

 

เปิดคำพิพากษา เพิกถอน น.ส. 3 ก. ก่อนกรมที่ดินชดใช้ “ธนาธร” 4.9 ล้าน

 

ส่วนกรณีการออก น.ส.3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี แล้วต่อมา น.ส. 3 ก. ดังกล่าวถูกเพิกถอน เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี หรือไม่ หากเห็นว่าเป็นการกระทำละเมิด ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 (กระทรวงมหาดไทย) และที่ 2 (กรมที่ดิน) จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่เพียงใด

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 บัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมาย ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 บัญญัติว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้

จากบทบัญญัติของกฎหมายเห็นได้ว่า การกระทำที่จะถือเป็นการละเมิดจะต้องประกอบไปด้วย การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมีความเสียหายเกิดขึ้น และความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น เป็นผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว

ดังนั้น หากมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่มิได้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น การกระทำนั้นย่อมไม่เป็นละเมิด หรือหากจะมีความเสียหายเกิดขึ้น แต่ความเสียหายดังกล่าว มิได้เป็นผลโดยตรงจากการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าการกระทำนั้น เป็นการละเมิดเช่นกัน

 

เปิดคำพิพากษา เพิกถอน น.ส. 3 ก. ก่อนกรมที่ดินชดใช้ “ธนาธร” 4.9 ล้าน

 

เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 43 ไร่ 3 งาน ออกให้แก่ นาย อ. เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2521 ตาม น.ส. 3 ก. โดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ที่ดินมาโดยการซื้อ เมื่อปี พ.ศ.2513 ต่อมา นาย อ. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2528 ส่วน น.ส. 3 ก. เลขที่ 159 ต.ด่านทับตะโก อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เนื้อที่ 38 ไร่ 67 ตารางวา

ออกให้แก่ นาย ช. เมื่อวันที่ 3 ต.ค.2521 ตามโครงการเดินสำรวจออก น.ส. 3 ก. โดยมิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 58 และมาตรา 58 ทวิ วรรคสอง (2) แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ที่ดินมาโดยการซื้อ เมื่อปี พ.ศ.2514 ต่อมา นาย ช. ได้จดทะเบียนขายให้แก่ บริษัท ร. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2528 และบริษัท ร. ได้จดทะเบียนขายรวม 2 แปลงให้แก่นาย ส. และนาย ส. ได้จดทะเบียนขายรวมสองแปลงให้แก่ผู้ฟ้องคดี เมื่อวันที่ 23 พ.ค.2543

เมื่อผู้ฟ้องคดี ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ได้ซื้อที่ดินตาม น.ส. 3 ก. เลขที่ 158 และเลขที่ 159 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ได้รับความเสียหาย เพราะต้องสูญเสียสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวไป

แม้ว่านายอำเภอจอมบึง ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของกรมการปกครอง ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะเป็นผู้ดำเนินการออก น.ส.3 ก. ก็ตาม แต่ก็เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดิน นายอำเภอจอมบึง จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ตามข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497

นายอำเภอจอมบึง จึงเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการออก น.ส.3 ก. ตามประมวลกฎหมายที่ดิน อันเป็นภารกิจของสำนักงานที่ดินอำเภอท้องที่ซึ่งที่ดินตั้งอยู่ โดยมีเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการในเบื้องต้น แล้วเสนอเรื่องให้นายอำเภอลงนามออก น.ส. 3 ก.

ทั้งนี้เมื่อเป็นการออก น.ส. 3 ก. โดยไม่ใช้ความระมัดระวัง ความรู้ความชำนาญและความละเอียดรอบคอบ ในการตรวจสอบสภาพและที่ตั้งของที่ดิน ก่อนออก น.ส. 3 ก. ว่าเป็นที่ดินที่ต้องห้ามออก น.ส. 3 ก. ตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งตามวิสัยและพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้เพียงพอไม่ 

จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐจึงต้องรับผิดต่อผู้ฟ้องคดี ในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงในการออก น.ส. 3 ก. ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงต้องไม่รับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ของนายอำเภอจอมบึงแต่อย่างใด