"แพรทองธาร" ร่วมประชุมซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งเป้าผลิตแรงงานทักษะสูง 1 ล้านคน

03 ต.ค. 2566 | 09:55 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2566 | 09:55 น.

"แพรทองธาร ชินวัตร" ร่วมประชุมซอฟต์พาวเวอร์ ตั้งเป้าผลิตแรงงานทักษะสูง 1 ล้านคนภายใน 1 ปี เสนอ 3 ขั้นตอนดำเนินงาน เพื่อขึ้นเป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์

(3 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ได้กล่าวว่าในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ โดยนำเสนอแผนยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1 / 2566 การจัดทำนโยบาย OFOS หรือ One Family One Soft Power และการจัดตั้งองค์การมหาชนอย่าง THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ

สำหรับแผนยุทธศาสตร์ซอฟพาวเวอร์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ในระยะ 100 วันแรก ถึงวันที่ 11 มกราคม 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จะเปิดให้ลงทะเบียนตามความสนใจ และจะร่วมจัด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาวให้กับกรุงเทพมหานคร 

ขณะที่ภายในระยะเวลา 1 ปี จะเร่งบ่มเพาะศักยภาพคน ให้สามารถสร้างแรงงานทักษะสูง เป็นจำนวนอย่างน้อย 1 ล้านคน 

พร้อมคาดหมายว่า พ.ร.บ. THACCA จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร เพราะมั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยจะเข้มแข็ง 

และเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และกระตุ้นให้ 20 ล้านครอบครัว มีชีวิตที่ดีขึ้น จนนำไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง 

"ประเทศไทยมีเสน่ห์ด้านวัฒนธรรม เป็นที่รู้จักไปเป็นที่ทั่วโลก เพราะฉะนั้นศักยภาพของวัฒนธรรมของคนไทยหากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จะสามารถไปได้ไกลระดับโลกอย่างแน่นอน"

นางสาวแพรทองธาร ยังกล่าวอีกว่า นโยบายซอฟต์พาวเวอร์ จะถูกผลักดันไปพร้อมกับนโยบายอื่นๆ โดยนโยบาย OFOS และ THACCA จะมุ่งยกระดับ ทักษะของคนไทยจำนวน 20 ล้านคน 

ให้เป็นแรงงานไทย ที่มีทักษะสูง จากการคาดการณ์ หากเราทำนโยบายนี้ได้สำเร็จ อย่างน้อยจะมีรายได้เข้าประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปี

รวมทั้งจะมีการจ้างงานมากขึ้นถึง 20 ล้านตำแหน่ง พร้อมกับจะได้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นหนึ่งในผู้นำของโลกในเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ 

ทั้งนี้เพื่อจะให้การดำเนินงานนโยบายนี้บรรลุวัตถุประสงค์ จะแบ่งการทำงานเป็น 3 ขั้นตอน ประกอบด้วย

1. การพัฒนาคน โดยหาคนที่มีความฝัน และทำให้เป็นจริงได้ โดยไม่กำหนดอายุ 1 คน 1 ครอบครัว โดยตั้งศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ระดับตำบลถึงจังหวัด ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ คนในครอบครัว 1 คน ได้เข้าไปเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ และทุกขั้นตอนการเรียนรู้ไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะใช้เงินงบประมาณ งานที่กระจายอยู่ในหลายหน่วยงาน ให้มาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และเมื่อผ่านการอบรมแล้วจะมีการมอบใบประกาศ รวมถึงทุนในการศึกษาต่อต่างประเทศ 

2. พัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ในสาขาต่างๆ ภายในประเทศ 11 สาขา เช่น อาหาร กีฬาท่องเที่ยว ภาพยนตร์เกมส์ รวมถึงการออกแบบและแฟชั่น โดยต้องปรับแก้ระเบียบกฎหมาย ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ รวดเร็วขึ้น และสร้างวันสต็อปเซอร์วิส อำนวยความสะดวกด้านเอกสาร อีกทั้งยังสนับสนุนทุนวิจัย และสร้างแรงจูงใจด้านภาษี 

3. รุกตลาดโลก ให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ให้กลายเป็นระดับสากล อาศัยความร่วมมือจากกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ ขนาดเดียวกันจะผลักดัน เทศกาลของคนไทย มีโอกาสไปร่วมงานระดับโลก