นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยหลังเดินทางไปมอบนโยบายให้ธนาคารออมสินว่า ได้ให้นโยบายออมสิน เป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนให้กับประเทศ โดยปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงถึง 90% จึงตั้งเป้าหมายให้ออมสินเข้าไปช่วย เพื่อให้หนี้ครัวเรือนเหลือ 80%
โดยรายละเอียดระยะแรกจะให้ออมสินนำร่องแก้ปัญหาหนี้เสีย ซึ่งเป็นหนี้ครัวเรือนของตัวเองก่อน โดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียจากการปล่อยสินเชื่อฉุกเฉินช่วงโควิดซึ่งสามารถทำได้เลย
"รายละเอียดแนวทางการช่วย ในเร็วๆ นี้ทางออมสินกำลังทำออกมาเพื่อเสนออยู่ แต่เบื้องต้นจะให้แก้หนี้ลูกค้าของออมสินก่อน เพราะลูกหนี้กลุ่มนี้สามารถทำได้เลย เช่น แนวทางอาจให้ผ่อนเท่าเดิมและมีการไปตัดเงินต้นได้มากขึ้น"
สำหรับแนวทางการบริหารของออมสินถือว่าบริหารได้ดี โดย 4 ปีที่ผ่านมา มีเงินสำรองเพิ่มขึ้นจาก 4,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 50,000 ล้านบาท ขณะที่เงินนำส่งรัฐบาลก็ยังได้ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ในระดับต่ำ 2.8-2.9% คิดเป็นมูลหนี้ 5 หมื่นกว่าล้านบาท
นอกจากนี้ ออมสินยังเข้าไปช่วยลดดอกเบี้ย ผ่านการตั้งนอนแบงก์ ทั้งในส่วนของจำนำทะเบียน การจำนองที่ดิน ก็ช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงิน และดอกเบี้ยในระบบสินเชื่อเหล่านี้อัตราลดลง ทั้งนี้ ยังให้ออมสินเข้าไปช่วยเร่งดูการออม เสริมความรู้ทางการเงินแก่ภาคประชาชน
ส่วนเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาท ไม่ได้มีการพูดคุยถึงเรื่องนี้แต่อย่างใด เพราะจะต้องรอการประชุมของคณะกรรมการดิจิทัล วอลเล็ต
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า แนวทางการแก้หนี้ของออมสิน มี 2 วิธีหลัก คือ การเพิ่มรายได้ แต่วิธีนี้จะต้องใช้เวลา แต่จะมีความยั่งยืนมากกว่า ต่อมาลดดอกเบี้ยลงมา หรือให้การจ่ายเงินต้นเท่าเดิม ก็จะช่วยลดภาระหนี้ของผู้กู้ลงได้
ส่วนลูกหนี้ออมสินที่จะทำได้เลยเป็นกลุ่มเงินกู้ฉุกเฉินช่วงโควิด ปี 2563-2564 ที่ปล่อยสินเชื่อไป 3 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหนี้เสีย 8 พันล้านบาท ตรงนี้ก็จะเข้าไปช่วยได้ก่อน