กรณีการผลักดันนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet วงเงินกว่า 5.6 แสนล้านบาท ของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งยืนยันชัดเจนว่า จะดันโครงการนี้ออกมาให้สำเร็จ โดยตั้งเป้าหมายเริ่มต้นการโอนเงินเข้ากระเป๋าเงินดิจิทัลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 ท่ามกลางข้อท้วงติงจากหลายองค์กร โดยเฉพาะบรรดานักวิชาการ และนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังหลายคน ว่าจะกระทบต่อฐานะการเงินการคลังของรัฐ
ล่าสุด นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายืนยันว่า ประเด็นเกี่ยวเนื่องกับความกังวลที่ว่าประเทศไทยอาจจะถูกลดเครดิตเรตติ้ง หากมีการเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet นั้น
จากรายงานล่าสุดของ Union Bank of Switzerland (UBS) ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสวิตเซอร์แลนด์และเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ว่าด้วยภาพรวมทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก (APAC Economic Perspective) มีข้อความตอนหนึ่งระบุว่า แม้ว่าค่าใช้จ่ายทางการคลังยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง แต่ความยั่งยืนของหนี้ระยะยาวยังคงมั่นคงอยู่ และอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยยังยั่งยืน
ขณะที่รายงาน Article IV ฉบับล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ ไอเอ็มเอฟ (IMF) ระบุว่าอัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP 70% นั้นสอดคล้องกับความยั่งยืนของหนี้ และการปกป้องทางการเงินทางกฎหมายและสถาบันยังใช้งานได้ดี
นายชัย กล่าวว่า รายงานฉบับนี้ระบุอย่างชัดเจนว่า การวัดความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) จะถูกลดระดับลงหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นกับจากโครงการ Digital Wallet โดยสถาบันจัดอันดับหลายแห่งต่างมองว่า การถูกปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศจะมาจากความเสี่ยงในเรื่องแนวโน้มการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง รวมถึงขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจ มากกว่าจะมองเพียงแค่นโยบายทางการเงินแบบใดแบบหนึ่ง
โฆษกรัฐบาล ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศในหลายปีที่ผ่านมาที่มีการเติบโตแทบจะต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกันและต่ำกว่าศักยภาพของประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จำเป็นจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน ด้วยแผนการเพิ่มรายได้ครั้งใหญ่ให้กับประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมาในอัตราเร่งที่สูงกว่าเดิมอย่างต่อเนื่องด้วยชุดนโยบายทั้งระยะสั้น แน่นอนว่า Digital Wallet เป็นหนึ่งนโยบายในนั้นด้วย รวมทั้งระยะกลาง และระยะยาว