จับตาสงครามอิสราเอลยื้อ ทุบเที่ยวไทย ลากการค้าโลกวูบรอบใหม่

11 ต.ค. 2566 | 03:55 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2566 | 04:37 น.

นักวิชาการชี้สงครามอิสราเอล-ฮามาสรุนแรงสุดรอบ 50 ปี จับตายืดเยื้อดันราคานํ้ามันดิบพุ่ง 100 เหรียญต่อบาร์เรล ฉุดค้าตะวันออกกลางกับโลกวูบ จับตาอิสราเอลเที่ยวไทยหาย 1 แสนคน เปิดโผกลุ่มสินค้าไทยได้รับผลกระทบเชิงบวก-ลบจากเหตุการณ์ครั้งนี้

การบุกโจมตีอิสราเอลโดยกองกำลังฮามาสตั้งแต่เช้าวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. 2566 และอิสราเอลตอบโต้กลับ ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสองฝ่ายจำนวนมาก รวมถึงมีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตและถูกจับเป็นตัวประกัน สถานการณ์ส่อทวีความรุนแรงโดยอิสราเอลเรียกกำลังพลสำรองเพิ่มอีก 3 แสนนาย นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศกร้าวจะตอบโต้กลุ่มฮามาส ขณะที่ผู้นำ 5 ชาติมหาอำนาจ (สหรัฐฯ, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, อิตาลี) ออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนเข้าข้างอิสราเอล เฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐได้ส่งเรือบรรทุกเครื่องบินรบ พร้อมสนับสนุนอาวุธเต็มพิกัด

จับตาสงครามอิสราเอลยื้อ ทุบเที่ยวไทย ลากการค้าโลกวูบรอบใหม่

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สงครามครั้งนี้ได้เริ่มส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแล้ว โดยราคานํ้ามันดิบในตลาดโลก (WTI) ปรับเพิ่มขึ้น จากวันเสาร์ที่ 7 ต.ค. 2566 อยู่ที่ 82 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล วันจันทร์ที่ 9 ต.ค. ปรับสูงขึ้นเป็น 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ประเด็นนี้ ถูกผสมโรงกับการลดกำลังการผลิตของ OPEC+ ที่ลดลงการผลิตนํ้ามันลงวันละ 1 ล้านบาร์เรล

“หากสงครามยื้ดเยื้อมีโอกาสก่อนสิ้นปีนี้ ราคานํ้ามันจะสูงกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล กรณีนี้เกิดขึ้นเพราะกลุ่มประเทศอาหรับที่เป็นผู้ผลิตนํ้ามันรายใหญ่ เข้าร่วมรบหรือสนับสนุนกลุ่มฮามาส เช่น อิหร่าน เลบานอน กาตาร์ (ขณะนี้กลุ่ม Hezbollah เลบานอนเข้าร่วมรบกับฮามาส)”

ต่อมาคือ ราคาทองคำ เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ต.ค. ปรับขึ้น 16 ดอลลาร์/ออนซ์ จากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงตํ่า มีโอกาสที่ทองคำจะไปแตะ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ (ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1,800 ดอลลาร์/ ออนซ์)

ขณะที่ในภาคการค้า หากสงครามยืดเยื้อจะทำให้การค้าของตะวันออกกลางกับโลกลดลง โดยอิสราเอลเป็นผู้ส่งออกอันดับ 7 ของตะวันออกกลาง ส่วนผู้ส่งออกอันดับหนึ่งคือ ซาอุดีอาระเบีย ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) คูเวต และอิหร่าน ขณะที่อิสราเอลเป็นผู้นำเข้าสินค้าอันดับที่ 3 ของตะวันออกกลาง รวมทั้งเศรษฐกิจอิสราเอลมีโอกาสลดลง 0.3-0.5% จากเหตุการณ์ จะกระทบการนำเข้าสินค้าต่างประเทศรวมถึงไทย

ส่วนภาคการท่องเที่ยว ตะวันออกลางมาเที่ยวไทยปีละ 8 แสนคน ในจำนวนนี้เป็นอิสราเอล 2 แสนคน คาดจากเหตุการณ์นักท่องเที่ยวตะวันออกลางจะเหลือ 7 แสนคน โดยอิสราเอลลดลงเหลือ 1 แสนคน

รศ.ดร.อัทธ์ ยังขยายความผลกระทบต่อภาคการค้าว่า ไทยส่งออกไปตะวันออกกลางปีละประมาณ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มีคู่ค้าสำคัญคือ ยูเออี ซาอุฯ และอิสราเอล สินค้าไทยที่คาดจะได้รับผลในเชิงบวกจากสถานการณ์ครั้งนี้ ได้แก่ เครื่องมือทางการแพทย์ ถุงมือยาง ผลิตภัณฑ์ยา อุปกรณ์สื่อสาร และอาหารสำเร็จรูป ส่วนที่กระทบเชิงลบ ได้แก่ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย และเครื่องประดับ

ด้านภาคแรงงาน ปี 2565 มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตไปทำงานตะวันออกกลาง 12,323 คน โดยทำงานในอิสราเอลมากสุด 9,417 คน รองลงมาคือ ยูเออี 1,200 คน ในปี 2565 และ 2566 แรงงานไทยในอิสราเอลสร้างรายได้เข้าประเทศ 299,077 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 1 แสนกว่าล้านบาท

“สงครามครั้งนี้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐ และอังกฤษ ไม่ช่วยเจรจาสงบศึก ตรงกันข้ามกลับส่งเงินและอาวุธช่วยอิสราเอล เท่ากับการเติมเชื้อไฟ สร้างความไม่พอใจประเทศอาหรับที่เป็นศัตรูกับสหรัฐอยู่แล้วคือ อิหร่าน กรณีนี้มีโอกาสสูงที่สงครามจะยื้ดเยื้อ และจะเป็นการสู้รบแบบนองเลือดในรอบ 50 ปี”

รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง กล่าวว่าสงครามครั้งนี้ ผลกระทบชัดเจนกับประเทศไทยจะเป็นเรื่องแรงงานที่มีมากถึง 3 หมื่นคน แต่มีข้อสังเกตว่า แรงงานเหล่านี้ขอกลับประเทศเพียงพันกว่าคนเท่านั้น ส่วนภาคการค้า การลงทุน ไม่กระทบไทยมากนัก

ขณะที่ราคานํ้ามัน หากมีการสู้รบเฉพาะอิสราเอลกับกลุ่มก่อการร้าย ยังไม่กระทบต่อราคานํ้ามันมากนัก เว้นแต่มีประเทศอื่น เช่น อิหร่าน เข้าร่วม ตรงนั้นน่าเป็นห่วง ราคานํ้ามันจะพุ่งทันที แต่โอกาสเกิดมีน้อย สิ่งที่รัฐบาลไทยต้องให้ความสำคัญมากที่สุดคือ เรื่องแรงงาน

“ภาพรวมของสงคราม อาจยืดเยื้อเป็นเดือน ๆ แต่ไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากนัก เพราะไม่ใช่เป็นสงครามระหว่างประเทศ เป็นการต่อสู้กับกลุ่มก่อการ มีประเทศที่ให้ความช่วยเหลือยังอยู่เบื้องหลัง จึงไม่ใช่สงครามยืดเยื้อ จนกลายเป็นสงครามโลก” รศ.ดร.สมชาย กล่าว