ค้านสุดตัว ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท

12 ต.ค. 2566 | 10:03 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2566 | 10:38 น.

นักวิชาการวิเคราะห์ฉากทัศน์ แหล่งเงินโครงการแจกเงินดิจิทัลวัลเล็ตคนละ 10,000 บาท ย้ำไม่ว่าจะเลือกทางใด ส่งผลเสียทั้งหมด พร้อมค้านสุดตัว ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ นำเงินมาแจกประชาชน

ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันต่อเนื่อง สำหรับโครงการดิจิทัล วัลเล็ต แจกเงินครั้งใหญ่ของรัฐบาลแบบถ้วนหน้าคนละ 1 หมื่นบาท ให้กับประชาชนที่มาอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้งบประมาณราว 560,000 ล้านบาท โดยมีนักวิชาการหลายสถาบันออกตัวลงชื่อคัดค้านโครงการนี้กันกว่า100 คน ซึ่งหนึ่งในข้อกังวล คือแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาแจก แม้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะระบุว่า รับฟังทุกความคิดเห็นแต่โครงการนี้ก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อ

ล่าสุดมีการวิเคราะห์จาก นายสุวิทย์ สรรพวิทยศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง ระบุถึงแหล่งที่มาของเงินว่า มีหลายฉากทัศน์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ปีงบประมาณ 2566 ที่จบไปแล้วเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยเก็บภาษีได้เกินเป้า 1.5 แสนล้านบาท เนื่องจากอานิสงค์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจจาก พ.ร.ก.กู้เงิน แสดงให้เห็นว่ามันมีผลของเวลา ผลจากการเก็บภาษีมาอยู่ในปีงบ 2566

  • ฉากทัศน์ 1 : ถ้ารัฐบาลเอาเงินมาใช้สำหรับนโยบายนี้ ก็ออกเป็น พ.ร.ก.เงินกู้ ซึ่งอาจจะขัดกับที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะไม่กู้ 
  • ฉากทัศน์ 2 : นโยบายกึ่งการคลัง
  • ฉากทัศน์ 3 : ขายหุ้นบางส่วนจากรัฐวิสาหกิจ (ในส่วนนี้เป็นไปได้ยาก)

นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า สำหรับ ฉากทัศน์ที่ 1 การออก พรก.เงินกู้ ต้องเสนอขอการอนุมัติจากสภา โดยต้องระบุเหตุผลว่าเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สามารถใช้เงินงบประมาณปกติได้ ซึ่งสามารถทำได้ และถ้าผ่าน ก็จะส่งผลให้ตัวเลขหนี้สาธารณะในปี 2570 จะพุ่งสูงกว่า 64% ต่อจีดีพี แต่ถ้าไม่ทำโครงการจะอยู่ที่ประมาณ 62% ต่อจีดีพี ซึ่งเข้าใกล้กรอบวินัยการเงินการคลังพอสมควร

ทั้งนี้ ตัวเลขหนี้สาธารณะยังถือว่าไม่น่ากังวลมากนัก หากเทียบกับประเทศที่กำลังพัฒนารายอื่น ๆ ที่มีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทย แต่ที่น่ากังวลคือ ก่อนเกิดวิกฤติโควิด19 ไทยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพียง 40% ทำให้ต่างชาติมองว่าไทยมีเครดิตที่ดี มีสัดส่วนหนี้ต่ำ สถานะทางการเงินมั่นคง ส่งผลต่อการดึงดูดการลงทุน

“ภายใน 4-10 ปีข้างหน้า นักวิชาการหลายท่าน ค่อนข้างมั่นใจว่าไทยประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เราควรต้องมีพื้นที่ทางการคลังเผื่อเอาไว้ เพื่อรับมือวิกฤติที่อาจเกิดขึ้น”

ส่วน ฉากทัศน์ที่ 2 การใช้นโยบายกึ่งการคลัง ส่วนนี้มองว่า เป็นไปได้หลายรูปแบบ ถ้าเป็นการให้รัฐวิสาหกิจของไทยสร้างหนี้แทนรัฐบาล ถือเป็นการฝากให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ก่อหนี้ ตัวเลขหนี้ดังกล่าวก็จะแสดงในสถานะการเงินที่ต่างชาติสามารถมองเห็นได้อยู่ดี ไม่สามารถซ่อนหนี้ได้ ขณะที่การแก้ไขกฎระเบียบ เช่น การปรับกรอบวงเงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังขึ้น จากเพดานเดิม 32% เป็น 45% เพื่อให้มีเงินมาใช้จ่ายในโครงการนั้น ยังยืนยันว่าจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของประเทศ เพราะสะท้อนถึงความหน่อนวินัยทางการเงินการคลังของประเทศ

“เครดิตเรทติ้งต่าง ๆ ไม่รู้ว่าเขาจะปรับลดความน่าเชื่อถือเราเมื่อใด แต่ถ้าเริ่มทำแล้ว เชื่อว่าจะส่งผลแน่ ๆ ไทยเราก็จะไม่ได้น่าสนใจในการลงทุนเหมือนเมื่อก่อน การมีหนี้สูงขึ้นยังกระทบต่อความเชื่อมั่นของเงินบาท ต่างชาติก็จะกังวลว่า ถ้ามาลงทุนในไทยจะคุ้มค่าหรือไม่”

และฉากทัศน์ที่ 3 ขายหุ้นบางส่วนจากรัฐวิสาหกิจ นั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำหรือเกิดขึ้น เปรียบเสมือนการใช้ทรัพย์สมบัติของประเทศในการนำเงินมาแจกจ่ายให้กับประชาชนใช้จ่าย ทั้งนี้ ต้องมองถึงจุดประสงค์ของการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจด้วย ว่า มีหน้าที่ในการควบคุมสินค้า หรือ บริการ บางอย่างที่ถ้าให้เอกชนทำแล้วเกิดอาจเกิดการผูกขาดทางการค้า การขายหุ้นรัฐวิสาหกิจ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายระยะสั้น ไม่สมควรเกิดขึ้นแน่นอน

สำหรับแนวทางการขายหุ้นรัฐวิสาหกิจนั้น ฐานเศรษฐกิจวิเคราะห์ และสอบถามข้อมูลจากแหล่งข่าวว่า หากรัฐบาลจะทำนั้น สามารถทำได้ด้วยวิธีการใดบ้าง โดยแหล่งข่าวระบุว่า ปัจจุบันมีกองทุนของรัฐฯที่ถือหุ้นอยู่ในรัฐวิสาหกิจหลายแห่ง หากขายหุ้นดังกล่าว รัฐฯก็จะมีเงินเข้ามาเป็นรายได้ หรือจัดตั้งกองทุนขึ้นมาใหม่ เพื่อทำการซื้อ-ขายหุ้นรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีการออกพันธบัตรซึ่งเป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยรัฐบาล หรือรัฐวิสาหกิจ ก็สามารถทำได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแจกเงินในลักษณะนี้ นักวิชาการหลายรายมองว่า ควรทำในรูปแบบเฉพาะกลุ่ม และควรทำในภาวะวิกฤติเท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันที่ใกล้เคียงกับภาวะวิกฤติที่ส่งผลกับไทย คือเหตุการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่อาจส่งผลต่อราคาน้ำมันในตลาดโลก กระทบต่อค่าครองชีพและราคาสินค้าต่าง ๆ ในไทย แต่ก็ยังไม่กระทบถึงขั้นต้องใช้งบประมาณ​ 560,000 ล้านบาทแจกประชาชนเพื่อใช้จ่ายแน่นอน