วันนี้ (14 ต.ค.66 ) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผย ถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับการตัดสิทธิ์คนที่มีรายได้สูง หรือการปรับลดวงเงินโครงการจาก 5.6 แสนล้านบาท เหลือเพียง 4 แสนล้านบาท ว่า "ไม่เป็นความจริง" เพราะขณะนี้ยังไม่มีการหารือในชั้นคณะอนุกรรมการฯ และไม่มีข้อสรุปใดๆ ทั้งสิ้น
โดยคณะอนุกรรมการฯ อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อนำมาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ คาดจะได้ข้อสรุปโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์นี้
เบื้องต้นจากข้อมูลปัจจุบันพบว่า
นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ยืนยันรัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นในส่วนที่มีข้อเสนอจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งในส่วนการพิจารณาเงื่อนไขการแจกเงิน เราไม่ได้ดูเรื่องความรวยหรือจน เพราะเป็นโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่โครงการสงเคราะห์ช่วยเหลือคนยากจน แต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือมุมมองการใช้จ่ายของคนที่มีรายได้สูงจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้หรือไม่
“เราได้ให้การบ้านต่ออนุกรรมการให้ไปพิจารณาในเงื่อนไขว่าหากมีการแบ่งว่าใครควรได้รับสิทธิ์ จะพิจารณาว่าใครรวยหรือใครจนเช่น เงินฝากในบัญชี การถือครองที่ดิน หรือการเสียภาษี แต่สุดท้ายทั้งหมดคงต้องมีกลไกทางวิทยาศาสตร์ บอกว่าใครรวยจริง ซึ่งคณะอนุกรรมการในชุดต่างๆ ต้องไปพิจารณา แล้วกลับมาเสนออีกครั้งในสัปดาห์หน้า”
สำหรับวงเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้นั้น จะไม่ถึง 5.6 แสนล้านบาทแน่นอน เพราะคนที่มีอายุเกิน 16 ปี ปัจจุบันมีแค่ 5.48 ล้านคน ดังนั้นกรอบวงเงินเต็มที่จะใช้แค่ 5.48 แสนล้านบาท ยังไม่นับรวมเงื่อนไขที่ดูความจำเป็นของกลุ่มคนและคนที่ไม่มาร่วมโครงการ
ส่วนการสมัครร่วมโครงการเบื้องต้นนั้น ยืนยันไม่ต้องมีการลงทะเบียน แต่ต้องทำการยืนยันตัวตนด้วยระบบ KYC จากนั้น กดรับสิทธิ์ จึงจะเข้าร่วมโครงการได้ โดยปัจจุบันมีผู้ที่เคยร่วมโครงการรัฐที่ผ่านและเคยยืนยันตัวตนแล้วกว่า 40 ล้านคน ยังเหลืออีก 10 กว่าล้านคนเท่านั้น ที่จะต้องมายืนยันตัวตน
นายจุลพันธ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ และธนาคารโลกออกมาเตือนรัฐบาลทั่วโลกให้พยายามรักษาวินัยการเงินการคลังท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ว่า รัฐบาลจะรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด แต่รัฐบาลก็จำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีการเติบโตสูงกว่าศักยภาพ
“ปัญหาเศรษฐกิจในหลายปีที่ผ่านมานั้น ทำให้เงินประชาชนขาดมือ เราจึงต้องเติมเงินเข้าไปให้ เพื่อให้ประชาชนเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายรัฐ”