ชงครม.ปลดล็อกดึงน้ำเมืองจันทบุรี ตุนไว้ใช้พื้นที่ EEC มัดใจนักลงทุน

15 ต.ค. 2566 | 19:39 น.

เลขาธิการนายกรัฐมนตรี หารือกรมชลประทาน และ สกพอ. จัดเตรียมแผนการจัดหาน้ำรองรับการลงทุนในพื้นที่ EEC สั่งทำข้อมูลเสนอครม.ปลดล็อกมติเก่า ดึงน้ำจากอ่างเก็บน้ำจันทบุรีมาใช้ได้ สร้างความมั่นใจเอกชน

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งกรมชลประทาน และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC มาหารือถึงแนวทางการเตรียมความพร้อมรอบรับความต้องการของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ 

ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ร่วมกับ สกพอ. พิจารณาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค โดยเฉพาะการปลดล็อกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปี 2562 ให้สามารถนำน้ำจากโครงการอ่างเก็บน้ำและระบบท่อส่งน้ำ ในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งดูแลโดยกรมชลประทาน จำนวน 3 อ่างมาใช้ในพื้นที่ EEC ก่อน

“ที่ผ่านมามีนักธุรกิจหลายรายไม่มั่นใจเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมเรื่องน้ำในพื้นที่ และจากการหารือก็พบว่าสามารถนำน้ำจากจันทบุรีมาใช้ได้ โดยต้องเสนอครม.ขอแก้มติเดิมเมื่อปี 2562 ซึ่งเคยกำหนดไว้ว่าจะต้องให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำให้ครบทั้ง 4 แห่งเสร็จสิ้นถึงเอามาใช้ได้ ซึ่งตอนนี้สร้างเสร็จแล้ว 3 แห่ง เหลืออีก 1 แห่ง จึงเสนอให้ปลดล็อกเอามาใช้ได้ก่อน เพื่อจะช่วยสร้างความมั่นในได้ว่าพื้นที่ EEC จะมีน้ำเพียงพอต่อความต้องการ” นพ.พรหมินทร์ ระบุ

 

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

น.พ.พรหมินทร์ ระบุว่า ปัจจุบันพื้นที่ EEC มีความต้องการใช้น้ำในการประกอบภาคธุรกิจประมาณ 550,000 ลิตรต่อวัน หากสามารถเพิ่มแหล่งน้ำมาจากจังหวัดจันทบุรีได้ก่อน จะช่วยสำรองน้ำเอาไว้ใช้ในพื้นที่อีอีซี เพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 20% คาดว่า การจัดเตรียมรายละเอียดเสนอต่อครม.จะได้ข้อสรุปเร็ว ๆ นี้

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาหารือถึงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ EEC เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการลงทุนจากภาคเอกชน โดยวางแผนการบริหารจัดการน้ำในช่วงปลายฤดูฝน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการในภาคการผลิตว่า ประเทศไทยจะมีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง และต้องดูแลเกษตรกรให้ไม่ได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งนี้นายกฯ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน ทำแผนการผันน้ำเข้าพื้นที่อ่างเก็บน้ำมานำเสนอ พร้อมกับเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามารับฟังและให้ความเห็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งเป้าว่ารัฐบาลจะวางแนวทางการแก้ไขปัญหา ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพของคณะทำงานชุดนี้ เพื่อให้การทำงานระหว่างกระทรวงทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ชงครม.ปลดล็อกดึงน้ำเมืองจันทบุรี ตุนไว้ใช้พื้นที่ EEC มัดใจนักลงทุน

สำหรับปัจจุบันพื้นที่อีอีซี มีแหล่งน้ำสำคัญจาก 3 อ่างเก็บน้ำหลักในพื้นที่จังหวัดระยอง และจังหวัดชลบุรี คือ 

  • อ่างเก็บน้ำประแสร์ จังหวัดระยอง
  • อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง
  • อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี

ส่วนโครงการอ่างเก็บน้ำและระบบท่อส่งน้ำที่กำลังดำเนินการพัฒนาอยู่ในพื้นที่ตามแผนการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในจังหวัดจันทบุรี ซึ่งกำหนดไว้ในหลักการพัฒนาและจัดการทรัพยากรน้ำภาคตะวันออกของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2560-2580 โดยจะมีอ่างเก็บน้ำรวม 4 แห่ง ประกอบด้วย 

  1. อ่างเก็บน้ำประแกด ตำบลพวา มีขนาดความจุ 60 ล้าน ลบม.
  2. อ่างเก็บน้ำคลองพวาใหญ่ 2 ที่บ้านบ่อชะอม ตำบลพวา ขนาดความจุ 68.1 ล้าน ลบม. 
  3. อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ตำบลขุนซ่อง ขนาดความจุ 80.7 ล้าน ลบม. 
  4. อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด บ้านวังสัมพันธ์ ตำบลขุนซ่อง มีขนาดความจุใหญ่ที่สุด คือ 99.5 ล้าน ลบม.อยู่ระหว่างก่อสร้าง