เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ พร้อมด้วย พลเรือเอก จิรพล ว่องวิทย์ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ, พลเรือโท ธาดาวุธ ทัดพิทักษ์กุล หัวหน้านายทหาร ฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการทหารเรือ และพลเรือตรี ถุงเงิน จงรักชอบ เจ้ากรมการเงินทหารเรือ รับมอบเงินร่วมสนับสนุนสวัสดิการภายใน กองทัพเรือ จากบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA)
ซึ่งนำโดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารจาก UTA ได้แก่ นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ, นายภาคภูมิ ศรีชำนิ, นายประดิษฐ์ ทีฆกุล, พลเรือเอก นวพล ดำรงพงศ์, นายคง ชิ เคือง และนายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร ณ ห้องรับรอง กองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม
พลเรือเอก อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ เปิดเผยว่า ได้เห็นถึงความตั้งใจของทาง UTA ที่ตั้งเป้า ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านโครงการ และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งตนได้ให้นโยบายกับกำลังพลในกองทัพ ว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศชาติ ต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด หากติดขัด ในส่วนใดต้องรีบแจ้งทันที
"เราเริ่มเห็นความเป็นรูปธรรมของโครงการมาแล้วก่อนหน้านี้ ผ่านพิธีวางศิลาฤกษ์โครงการก่อสร้างอาคารพักอาศัย ระยะที่ 1 ของกองทัพเรือ และการมอบเงินช่วยเหลือกำลังพลกองทัพเรือที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปาง"
ทั้งนี้โครงการที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปีนี้คือ งานก่อสร้างทางวิ่ง(รันเวย์) เส้นที่ 2 และทางขับ สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา กรอบวงเงิน 16,493 ล้านบาท และได้ให้ทางกองทัพเรือ ประสานงานกับทาง UTA ว่าแรงงานประเภทใดที่มีความจำเป็นกับโครงการ และต้องใช้ทักษะแบบไหน เป็นพิเศษ หากกองทัพเรือสามารถช่วยเหลือได้ ก็ให้ดำเนินการทันที
นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัดกล่าวว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้ความสำคัญกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวัน (EEC) เป็นอย่างมาก และให้เวลาในการพิจารณาแผนงานเพื่อขับเคลื่อนพื้นที่ EEC ภายใน 100 วัน ดังนั้นความชัดเจนเรื่องสัญญาโครงการ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ต้องมีความคืบหน้าด้วยเช่นกัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่ารัฐบาลใหม่ มีความมุ่งมั่นกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก เพราะสามารถดึงดูดนักลงทุน สร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล และในช่วงที่ผ่านมาทาง UTA ได้ใช้งบประมาณ 4,000 ล้านบาท ในการขับเคลื่อนโครงการ โดยเฉพาะการหาบริษัทที่ปรึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกเข้ามาช่วยดูแล ดังนั้นหากโครงการใดมีการลงนามในสัญญาปีนี้ ทาง UTA ก็พร้อมวางศิลาฤกษ์ในทันที
“ขอขอบคุณทางกองทัพเรือที่ไว้วางใจ และเห็นความตั้งใจจริงของ UTA มาโดยตลอด ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน เพื่อให้สนามบินนานาชาติอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติ แห่งที่ 3 ของประเทศไทย ที่มีความทันสมัย และตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ทั่วโลก”