“เศรษฐา”ลุยดึงทุนจีน บูมเศรษฐกิจใหม่ บีโอไอมั่นใจ ขอส่งเสริมปีนี้ 6 แสนล้าน

18 ต.ค. 2566 | 03:38 น.
อัพเดตล่าสุด :18 ต.ค. 2566 | 04:16 น.

“เศรษฐา” กล่อมบิ๊กธุรกิจจีนดึงลงทุนไทยเพิ่ม ช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ ขณะบีโอไอเร่งเครื่องโค้งสุดท้าย ดันเป้าขอส่งเสริมทั้งปี 6 แสนล้านเต็มสูบ เผย 8 เดือนแรกคึกคัก ยอดขอส่งเสริมกว่า 4.6 แสนล้าน จีนเบอร์ 1 ลงทุนมากสุด ค่ายรถอีวี เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ไหลเข้า

ภาคการลงทุนไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังโควิดคลี่คลาย และได้รัฐบาลชุดใหม่สร้างความเชื่อมั่น มีการปรับลดค่าไฟฟ้า และนํ้ามันช่วยลดต้นทุน รวมทั้งเร่งเปิดเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับหลายประเทศ ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิตเพื่อส่งออก รวมถึงสร้างมูลค่าเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ

  • “เศรษฐา”กล่อมบิ๊กจีนดึงลงทุน

 ผู้สื่อข่าวรายงาน ในการเดินทางเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะระหว่างวันที่ 17-18 ต.ค. 2566  นอกจากเพื่อเข้าร่วมการประชุม Belt and Road Forum ตามคำเชิญของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีนแล้ว ในการนี้นายกรัฐมนตรียังได้เดินสายหารือกับภาคเอกชนชั้นนำของจีนหลายรายเพื่อดึงการลงทุนมายังประเทศไทย ประกอบด้วย CITIC Group Corporation บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจบริการทางการเงินรายใหญ่ของจีน โดยเชิญชวนให้มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และให้มาตั้งสำนักงานภูมิภาคในไทย ซึ่งบริษัทกำลังพิจารณาขยายความร่วมมือกับไทยในอีกหลายด้าน ซึ่งจะได้หารือในขั้นตอนต่อไป

เศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พบปะกับภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของจีน เพื่อดึงการลงทุน ระหว่างเดินทางเยือนจีน

ถัดมาได้หารือกับผู้บริหาร CRRC Group รัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยบริษัทฯ แสดงความสนใจลงทุนในไทยในส่วนที่มีศักยภาพ นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนว่า ในไทยมีโอกาสอย่างมากในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง รวมถึงในสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ BCG Economy พลังงานหมุนเวียน และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุน

นายกรัฐมนตรียังได้หารือกับผู้บริหาร บริษัท Ping An ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจีน รวมถึงธุรกิจประกันภัย โดย Ping An ขานรับนโยบายรัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนสีเขียว โดยเชิญชวนให้มาลงทุนในไทยให้มากขึ้น โดยไทยยินดีต้อนรับการลงทุนทุกด้านที่บริษัทเชี่ยวชาญ เช่น healthcare การเงิน ทั้งนี้หากบริษัทจะขยายการบริการประกันภัยนอกประเทศ จะพิจารณาไทยเป็นประเทศแรก

“เศรษฐา”ลุยดึงทุนจีน บูมเศรษฐกิจใหม่ บีโอไอมั่นใจ ขอส่งเสริมปีนี้ 6 แสนล้าน

นอกจากนี้ยังได้หารือกับผู้บริหาร Xiaomi ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีนวัตกรรมขั้นสูง โดยบริษัทฯ เริ่มธุรกิจในไทย ปี 2018 และมีไทยเป็น Head quarter ในภูมิภาค โดยบริษัทยินดีที่จะขยายการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในไทยสำหรับผลิตภัณฑ์ของบริษัท และนำสู่ตลาดโลก ซึ่งจะช่วยเพิ่มทักษะการผลิตของแรงงานไทยควบคู่กับการเทรนนิ่ง เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือและมีทักษะ

 พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังได้หารือกับผู้บริหาร Alibaba Group ซึ่งเป็นบริษัทอี-คอมเมิร์ซรายใหญ่ ให้บริการและพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ทางอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ และระบบการชำระเงิน Alipay โดย​บริษัทฯ เห็นว่าไทยมีศักยภาพ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยบริษัทฯ ประสบความสำเร็จในไทยในหลากสาขาของผลิตภัณฑ์ และยินดีสนับสนุน e-training ให้กับไทย พร้อมขยายความร่วมมือการลงทุน ได้แก่ E-commerce training สำหรับบุคลากรและแรงงานไทย​ โดยนายกฯ ได้เสนอให้ตั้ง smart digital hub ในไทย ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณาด้วยสิทธิประโยชน์ที่น่าสนใจ

  • บีโอไอปลื้มยอดขอส่งเสริม 8 เดือนพุ่ง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า ภาพรวมการลงทุนไทยในปี 2566 เป็นไปในทิศทางที่ดี มีหลายอุตสาหกรรมที่ขยายตัวสูงมาก โดยช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.- ส.ค.) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนท จำนวน 1,375 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 มูลค่าเงินลงทุนรวม 465,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 47 ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้วทั้งในแง่จำนวนโครงการและเงินลงทุน

ขณะที่การออกบัตรส่งเสริม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ใกล้เคียงการลงทุนจริงมากที่สุด ในช่วง 8 เดือนแรก มีการออกบัตรส่งเสริมจำนวน 1,106 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เงินลงทุนรวม 288,708 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือเป็นสัญญาณที่ดีว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนจริงจำนวนมากในระยะ 1 - 2 ปีข้างหน้า

การขอรับการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (184,961 ล้านบาท) รองลงมาได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร (55,959 ล้านบาท) อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (37,406 ล้านบาท)

นฤตม์  เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 8 เดือนแรก มีจำนวน 801 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เงินลงทุน 365,198 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 73 ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดจากปีที่ผ่านมา โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากสุด 90,346 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2.7 เท่า จาก 228 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เครื่องจักร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รองลงมาคือ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น

การขยายตัวของตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งจากบริษัทไทยและต่างชาติอย่างมากในปีนี้ สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติโควิด และจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นหลังการจัดตั้งรัฐบาล นอกจากนี้ผลจากแนวโน้มการย้ายฐานการผลิตครั้งใหญ่ของโลกที่เป็นผลจากสงครามการค้าและเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีความซับซ้อนและรุนแรงมากขึ้น นักลงทุนจำนวนมากมองเห็นความจำเป็นที่ต้องกระจายความเสี่ยง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนของโลกในอนาคต

“เศรษฐา”ลุยดึงทุนจีน บูมเศรษฐกิจใหม่ บีโอไอมั่นใจ ขอส่งเสริมปีนี้ 6 แสนล้าน

  • ค่ายอีวี-อิเล็กทรอนิกส์แห่ปักฐานไทย

นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่น่าสนใจหลายโครงการ ที่ขอรับการส่งเสริม เช่น LOTUS BISCOFF บิสกิตแบรนด์ดังจากยุโรป ลงทุนตั้งฐานการผลิต Biscuits/Cookies, Spread and Crumbled Biscuits แบรนด์ Biscoff ซึ่งมีเป้าหมายจะสร้างให้เป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย มูลค่าการลงทุนกว่า 5,500 ล้านบาท

PRINGLES มันฝรั่งทอดกรอบแบรนด์ PRINGLES จากสหรัฐอเมริกา ลงทุนตั้งฐานการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออก เงินลงทุนกว่า 4,700 ล้านบาท, MICHELIN SIAM ลงทุนขยายฐานการผลิตยางล้อรถยนต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 2,300 ล้านบาท, THAI SAMSUNG ELECTRONICS ลงทุนขยายฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องครัว ตู้เย็น เตาไฟฟ้า มูลค่าการลงทุนกว่า 19,500 ล้านบาท, MAXIM INTEGRATED PRODUCTS ลงทุนตั้งฐานธุรกิจ Integrated Circuit Testing และ Wafer Testing มูลค่าการลงทุนกว่า 5,120 ล้านบาท

GAC AION AUTOMOBILE ลงทุนตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ากว่า 1,400 ล้านบาท, CHANGAN AUTOMOBILE ลงทุนตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า มูลค่ากว่า 8,860 ล้านบาท, INVENTEC ELECTRONICS และ QMB ผู้ผลิต Notebook รายสำคัญสำหรับ HP ลงทุนตั้งฐานการผลิตในไทย มูลค่าการลงทุนรวมกันกว่า 2,900 ล้านบาท เป็นต้น

“ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เชื่อว่าทิศทางการลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายต่าง ๆ จะยังคงมีโมเมนตัมการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เซมิคอนดัคเตอร์ และแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) ซึ่งได้มีการพูดคุย กับบีโอไอ และได้เดินทางเข้ามาดูลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา โดยคาดว่าตัวเลขคำขอทั้งปี 2566 จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ 6 แสนล้านบาท” นายนฤตม์ กล่าว

หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3932 วันที่ 19 -21 ตุลาคม พ.ศ. 2566