รัฐบาลเร่งจัดทำกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีพ.ศ.2567 (1 ต.ค. 2566- 30 ก.ย. 2567) เพื่อให้ทุกกระทรวงเกิดการเบิกจ่ายหลังเกิดความล่าช้า จากการจัดตั้งรัฐบาล คาดว่าเดือนเมษายนหรือไตรมาสที่สองของปี 2567 น่าจะเริ่มเบิกจ่ายเงินงบประมาณได้โดยเฉพาะกระทรวงคมนาคม ที่ถูกจับตามองอย่างมาก
เนื่องจากเป็นขุมทองของงบลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน โครงการขนาดใหญ่ เครื่องยนต์สำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ แต่ การขอตั้งงบลงทุนปีงบประมาณ 2567 และงบผูกพันของส่วนราชการมีหลักเกณฑ์ว่า โครงการวงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อนส่งให้สำนักงบฯพิจารณา
สุริยะ จัดทัพ2.8 แสนล้าน
สำหรับความคืบหน้าการประชุมจัดทำงบประมาณรายจ่ายบูรณาการประจำปีงบประมาณ 2567 ของกระทรวงคมนาคม นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เบื้องต้นกระทรวงฯ ได้มีการปรับกรอบงบประมาณฯ เพิ่มขึ้นเป็น 281,773 ล้านบาท จากเดิมกรอบวงเงินอยู่ที่ประมาณ 244,000 ล้านบาท ซึ่งการปรับกรอบวงเงินในครั้งนี้ เป็นการบูรณาการเพื่อตอบโจทย์โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ อาทิ โครงการก่อสร้างถนนของกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เป็นต้น
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดคำของบประมาณปี 2567 จำนวน 11 หน่วยงาน พบว่ากรมทางหลวง (ทล.) เสนอขอวงเงินสูงที่สุด 199,087 ล้านบาท โดยสูงกว่า ปีงบประมาณที่ผ่านมาถึง 4 หมื่นล้านบาท รองลงมาคือ กรมทางหลวงชนบท (ทช.) วงเงิน 36,807 ล้านบาท
18 บิ๊กโปรเจ็กต์เร่งด่วน
โครงการสำคัญในปี 2567 ทั้งก่อสร้างใหม่และงบผูกพัน อาทิ 1.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา วงเงิน 76,580 ล้านบาท ซึ่งของบผูกพันก่อสร้าง และจากการปรับแบบ2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายบางใหญ่-กาญจนบุรี วงเงิน 56,178 ล้านบาท ซึ่งมีส่วนงานติดตั้งระบบด่านเก็บเงิน 3.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย วงเงิน 2,851 ล้านบาท 4.โครงการศูนย์ขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,361 ล้านบาท
5.โครงการรถไฟทางคู่ สายหาดใหญ่-ปาดังเปซาร์ วงเงิน 6,660 ล้านบาท 6.โครงการรถไฟทางคู่ สายขอนแก่น-หนองคาย วงเงิน 29,748 ล้านบาท 7.โครงการรถไฟทางคู่สายชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี วงเงิน 37,500 ล้านบาท 8.โครงการรถไฟทางคู่ สายปากน้ำโพ-เด่นชัย วงเงิน 62,800 ล้านบาท 9.โครงการทางพิเศษสายกระทู้-ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 14,670 ล้านบาท 10.โครงการทางหลวงพิเศษฉลองรัชส่วนต่อขยาย ช่วงจตุโชติ-ลำลูกกาวงเงิน 33,400 ล้านบาท
11.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายบ้านไผ่-นครพนม วงเงิน 66,848 ล้านบาท 12.โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ วงเงิน 72,921 ล้านบาท
13.โครงการระบบรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,670 ล้านบาท
14.โครงการระบบรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 4,616 ล้านบาท
15.โครงการระบบรถไฟชานเมืองส่วนต่อขยายสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,468 ล้านบาท
16.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) วงเงินประมาณ 140,000 ล้านบาท
17.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. วงเงินประมาณ 49,000 ล้านบาท
18.โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 42 กม. วงเงินประมาณ 33,000 ล้านบาท ฯลฯ
ทล.-ทช. ลุย โครงข่ายแสนกม.
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า กรมฯมีโครงข่ายที่รับผิดชอบ 1,530 สายทาง ระยะทาง 52,293 กม. ในปีงบประมาณ 2566 ได้รับ 118,994.93 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 96.12% หรือประมาณ 110,000 ล้านบาท ส่วนในปีงบประมาณ 2567 ทล.ได้ยื่นคำของบประมาณ จำนวน 338,418.3181 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าในปีงบประมาณ 2566 ประมาณ 40,000 ล้านบาท หรือปีงบฯ 2566 ขออยู่ที่ 298,418.3181 ล้านบาท
โครงการที่เตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบ 3 โครงการ ระยะทางรวม 59.77 กิโลเมตร (กม.) วงเงินรวม 91,901 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการมอเตอร์เวย์ M9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท 2.โครงการมอเตอร์เวย์ M5 สายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน 22 กม. วงเงิน 31,358 ล้านบาท โดยทั้ง 2 โครงการนี้จะเสนอกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้เพื่อเตรียมเสนอ ครม. พิจารณาเห็นชอบภายในปี 2566 และ 3.โครงการมอเตอร์เวย์ M7 ส่วนต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงินลงทุน 4,508 ล้านบาท ขณะนี้เรื่องเงินกู้ได้บรรจุในแผนเงินกู้แล้ว
นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ทช. มีโครงข่ายในความรับผิดชอบทั่วประเทศ จำนวน 3,450 สายทาง ระยะทางรวม 49,653.785 กม. โดยได้เตรียมเสนอขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2567 จำนวน 91,910 ล้านบาท จากปีงบฯปี 2566 วงเงิน 47,108.9146 ล้านบาท สิ้นปีงบประมาณ (30 ก.ย.66) เบิกจ่ายไปแล้ว 42,606.6463 ล้านบาท คิดเป็น 90.44%
โครงการสำคัญในปีงบฯ 2567 แบ่งเป็นโครงการขนาดเล็ก ที่มีมูลค่าโครงการรวม 30,000 ล้านบาท ประมาณกว่า 1,000 โครงการ และมีโครงการขนาดใหญ่ วงเงินรวม 2,312 ล้านบาท จำนวน 14 โครงการ เช่น 1.โครงการถนนเลียบแม่น้ำโขงนาคาวิถี ช่วงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 2-พระธาตุพนม อ.เมือง-ธาตุพนม จ.มุกดาหาร-นครพนม วงเงิน 123 ล้านบาท เป็นต้น
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567 ขบ.ได้ขอรับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 4,300 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่จะเป็นการงานบริการด้านขนส่ง รวมถึงงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ระยะที่ 2 วงเงิน 649 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบผูกพัน 3 ปี (ปี 66-68) ส่วนปีงบประมาณ 2566 ได้รับจำนวน 3,500 ล้านบาท เบิกจ่ายงบไป 88-89%
ดันสายสีส้ม เซ็นสัญญาก่อสร้าง
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) กล่าวว่า โครงการเร่งด่วน จำนวน 3 โครงการ วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์- มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) 140,000 ล้านบาท ได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว รอเสนอครม.เห็นชอบเพื่อลงนามสัญญา แต่ปัจจุบันยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการดังกล่าวระหว่าง รฟม. และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ต้องรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณา
รวมถึงรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล 22.1 กม. วงเงิน 4.9 หมื่นล้านบาท อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ก่อนเสนอครม อนุมัติโครงการฯ ต่อไป ส่วนจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวใหญ่ ได้แก่ โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42 กม. วงเงิน 3.3 หมื่นล้านบาท