"คมนาคม" ถก กต. ส่ง 3 สายการบิน อพยพคนไทยในอิสราเอล

12 ต.ค. 2566 | 07:12 น.
อัพเดตล่าสุด :12 ต.ค. 2566 | 07:19 น.

"คมนาคม" ถกกระทรวงการต่างประเทศ เตรียมส่ง 3 สายการบิน เร่งอพยพคนไทยในอิสราเอล 5,000 คน คาดพร้อมเดินทางไปรับภายใน 3 วัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย และสายการบินเพื่อสรุปแผนอพยพคนไทยกว่า 5 พันคนที่แจ้งความประสงค์กลับประเทศว่า สำหรับการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ในประเทศอิสราเอลในขณะนี้และสรุปแผนเตรียมความพร้อมการอพยพนำคนไทยกลับประเทศ ตามบัญชาของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีความห่วงใยต่อคนไทยที่ยังติดอยู่ในสถานการณ์การสู้รบ ให้กลับสู่ประเทศไทยโดยเร็วที่สุด

 

นายณรงค์ บุญเสถียรวงศ์ รองอธิบดีกรมการกงสุล ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) กล่าวว่า ขณะนี้ สถานการณ์การสู้รบขยายวงกว้างออกไปมาก ส่งผลต่อการเดินทางไปยังจุดต่าง ๆ เกือบทุกแห่ง ทำให้การรวบรวมคนงานไทยไปยังสถานที่ปลอดภัย เพื่อเตรียมการลำเลียงขึ้นเครื่องบินกลับประเทศรวมทั้งการเดินทางไปยังสนามบินเทลอาวีฟ ซึ่งเป็นสนามบินแห่งเดียวในอิสราเอลที่ยังคงเปิดใช้งานอยู่ยังเป็นไปด้วยความยากลำบาก

"กระทรวงการต่างประเทศยังคงใช้ความพยายามทุกวิถีทางในขณะนี้เพื่อรวบรวมคนไทยทั้งหมด ซึ่งรวมทั้งการเปิดศูนย์ฉุกเฉินทำงานตลอด 24 ชั่วโมง"

 

ขณะที่การเตรียมความพร้อมด้านเที่ยวบิน ขณะนี้มีสายการบินของไทยอย่างน้อย 3 สายการบินที่แสดง ถึงความพร้อมสำหรับปฏิบัติการรับคนไทยกลับประเทศ ได้แก่ สายการบินไทยแอร์เอเชีย การบินไทย และนกแอร์ที่จะสามารถเดินทางไปรับได้ภายใน 3 วัน

"เมื่อได้มีการกำหนดแผนและสนามบินที่จะใช้เป็นจุดรับคนไทยเป็นที่ชัดเจนแล้ว โดยอาจเป็นทั้งที่สนามบินเทลอาวีฟหรือสนามบินอื่น ๆ ภายนอกประเทศอิสราเอลที่มีความปลอดภัยดังนั้นในขั้นนี้ จึงขึ้นอยู่กับความพร้อมในการรวบรวมคนไทยในประเทศอิสราเอลที่จะดำเนินการโดยกระทรวงการต่างประเทศเป็นสำคัญ เพื่อให้ทราบทั้งจำนวนและสนามบินที่จะใช้เป็นจุดรับ"

 

ทั้งนี้ในส่วนของการขออนุญาตทำการบินเพื่อการส่งกลับประเทศ (Repatriation Flight) ซึ่งจะต้องขอ อนุญาตทั้งประเทศปลายทางและประเทศที่บินผ่านเป็นกรณีพิเศษ ที่ประชุมได้สรุปให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการประสานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อยื่นขออนุญาตเป็นทางการกับอิสราเอล รวมทั้งประสานเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศอื่น ๆ เช่น ประเทศจอร์แดน

 

 ขณะเดียวกันในกรณีที่มีแผนจะให้เครื่องบินไปรับนอกเขตแดนของอิสราเอลที่มีพรมแดนติดกัน ตลอดจนประสานประเทศระหว่างทางที่เที่ยวบินพิเศษนี้จะต้องทำการบินผ่านเพื่ออำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง อันเป็นแนวปฏิบัติสากลระหว่างรัฐต่อรัฐในกรณีดังกล่าว ทั้งนี้ในเบื้องต้นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT ได้มีหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานการบินแห่งอิสราเอล(CAAI) ทราบล่วงหน้าแล้ว

 

นอกจากนี้ที่ประชุมได้ข้อสรุปดังนี้ 1.กระทรวงการต่างประเทศจะเร่งดำเนินการรวบรวมคนไทยและสรุปจำนวนและสถานที่นัดหมายรับคนไทยเพื่อแจ้งให้กระทรวงคมนาคมทราบ เพื่อกำหนดแผนเที่ยวบิน ให้กับสายการบินทราบต่อไป

 

 2. แผนการขนส่งคนไทยกลับประเทศจะกำหนดไว้เป็นสองแนวทางร่วมกัน ทั้งการบินตรงจากสนามบินต้นทางสู่ประเทศไทย และการอพยพคนไทยออกจากอิสราเอลไปยังประเทศที่ปลอดภัย เช่น ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรืออินเดีย ซึ่งเป็นการบินระยะสั้น สามารถดำเนินการขนคนไทยได้จำนวนมากในเวลาที่รวดเร็วกว่าก่อนที่จะจัดเครื่องบินพาณิชย์เดินทางกลับสู่ประเทศไทยต่อไป

 

"ขณะนี้จึงถือได้ว่าการเตรียมความพร้อมทุกด้าน ทั้งเครื่องบินและการประสานเพื่อขออนุญาตทำการบินกับประเทศต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว จึงเหลือเพียงความสำเร็จของการรวบรวมคนไทยไปยังจุดต่าง ๆ เพื่อกำหนดจุดรับต่อไปทันที ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมขอให้ทางกระทรวงการต่างประเทศดำเนินการและแจ้งความคืบหน้าทันทีที่สามารถเริ่มปฏิบัติการบินตามแผนได้"