“พิพัฒน์” ชงนายกฯ เจียดงบกลาง ช่วยค่าจ้างแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล

26 ต.ค. 2566 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2566 | 11:46 น.

“พิพัฒน์” รมว.แรงงาน เตรียมเสนอ นายกรัฐมนตรี ขอจัดสรรงบกลาง ช่วยเหลือเยียวยาค่าจ้างแรงงานไทย ที่เดินทางกลับมาจากอิสราเอล กลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนรายได้ไม่เพียงพอ พร้อมหารือประเด็นแรงงานกับ กมธ. วุฒิสภา

วันนี้ (26 ตุลาคม 2566) นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงแนวทางช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากอิสราเอลว่า กระทรวงแรงงาน เตรียมเสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อขอจัดสรรงบกลาง นำมาช่วยเหลือแรงงานไทยที่ได้รับความเดือดร้อนและอาจมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หลังจากเดินทางกลับจากประเทศอิสราเอล

“รัฐบาล จะช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับผลกระทบกลุ่มนี้ โดยนอกเหนือจากการชดเชยรายได้เป็นเงิน 15,000 บาท อาจจะต้องเสนอนายกฯ เพื่อจัดสรรงบกลางมาเยียวยาเพิ่มเติม แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ จะพิจารณาว่าดำเนินการได้หรือไม่” นายพิพัฒน์ ระบุ

พร้อมกันนี้ กระทรวงแรงงาน ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดช่วยกันแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่นเดียวกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่แรงงานไทยจะได้รับทั้งหมด เพื่อเป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น รวมทั้งการดึงสถาบันการเงินของรัฐเข้ามาให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน หรืออาจมีแนวทางช่วยเหลือเพิ่มเติมเช่นการพักหนี้ให้กับแรงงานที่เดือดร้อนด้วย 

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

ขณะที่การอพยพแรงงานไทยจากอิสราเอลกลับประเทศ ล่าสุดมีจำนวนแรงงานไทยลงทะเบียนขอเดินทางกลับประเทศแล้ว 8,500 คน โดยเดินทางกลับมาถึงแล้วประมาณ 5,500 คน เฉลี่ยวันละ 500-800 คน ส่วนที่เหลือคาดว่าจะทยอยเดินทางกลับมาได้หมดภายในสิ้นเดือนตุลาคม 2566 นี้ 

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระทรวงแรงงาน ยังพบว่า มีจำนวนแรงงานไทยอีกกว่า 20,000 คน ซึ่งยังไม่ได้ลงทะเบียนขอเดินทางกลับประเทศ โดย รมว.แรงงาน ยอมรับว่า กระทรวงแรงงานจะประสานหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาทางพาคนไทยกลับมาให้มากที่สุด และที่ผ่านมาก็ได้รับมอบนโยบายในเรื่องนี้จากนายกรัฐมนตรีแล้ว 

 

การอพยพแรงงานไทยจากอิสราเอลกลับประเทศ

นายพิพัฒน์ กล่าวว่า วันนี้ ยังได้หารือร่วมกับพล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา และคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่เข้าประชุมหารือประเด็นด้านแรงงาน และกล่าวถึงสถานการณ์แรงงานไทยในประเทศอิสราเอลว่าได้มีการขับเคลื่อนตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการอย่างต่อเนื่อง 

รวมทั้งมีการประสานงานให้แรงงานไทยที่กลับจากประเทศอิสราเอลมีช่องทางการทำงานภายหลังกลับจากประเทศอิสราเอล เช่น การไปทำงานที่ประเทศเกาหลี หรือพื้นที่ที่ขาดแคลนแรงงานในประเทศไทย รวมทั้งยังมีนโยบายขับเคลื่อนให้กระทรวงแรงงานเป็นกระทรวงเศรษฐกิจให้ได้

 

“พิพัฒน์” ชงนายกฯ เจียดงบกลาง ช่วยค่าจ้างแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล

 

สำหรับการหารือร่วมกันระหว่าง รมว.แรงงาน และคณะกรรมาธิการการแรงงาน มีประเด็นหารือที่อยู่ในการพิจารณาศึกษา ประกอบด้วย 

  • การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 
  • การขาดแคลนแรงงานในภาคการท่องเที่ยว 
  • แนวทางการจัดทำประมวลกฎหมายแรงงาน 
  • การบริหารจัดการอุปสงค์และอุปทานแรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 
  • การขยายโอกาสการมีงานทำและส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุที่เหมาะสมกับวัยและประสบการณ์ และการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ 
  • แนวทางการคุ้มครองและป้องกันการทำงานในรูปแบบที่อาจเป็นอันตรายต่อเด็กทำงาน : กรณีมวยเด็ก และการยกระดับคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ต้องยกหรือเคลื่อนย้ายวัสดุหนักด้วยแรงกายตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) สำหรับแรงงานกลุ่มต่าง ๆ 
  • ทางเลือกเชิงนโยบาย : ประกันสังคมกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม 
  • แนวทางการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงแรงงาน เรื่องการช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศอิสราเอล

 

“พิพัฒน์” ชงนายกฯ เจียดงบกลาง ช่วยค่าจ้างแรงงานไทยกลับจากอิสราเอล