นายภณวัชร์นันท์ ไกรมาตย์ นายกสมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันนั้น มีความรุนแรงในการแข่งขันกันมากขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบการค้าเข้าสู่ความเป็นเสรีและตลาดทั่วโลกเปิดกว้างถึงกันทั้งในตลาดแบบเดิม และตลาดอีคอมเมิร์ซ
ทั้งนี้ จึงทำให้นวัตกรรมเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจ และการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศ แม้ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฉบับหลัง จะเร่งรัดผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจภาคการผลิตสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยนวัตกรรมและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนที่เน้นการสร้างคุณค่าให้แก่สินค้า และบริการเชิงคุณภาพ รวมถึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการยกระดับภาคการผลิตสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต โดยเร่งต่อยอดอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และมีความได้เปรียบ ประยุกต์ผสมผสานกับเทคโนโลยีในการยกระดับผลิตภาพในภาพรวมให้สามารถผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ในระยะเวลาที่สั้นลง
ซึ่งการลงทุนวิจัยและพัฒนาต่อยอดจาก องค์ความรู้เดิมเพื่อสร้างนวัตกรรมให้เกิดเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของไทยที่เน้นคุณค่าและความยั่งยืน พร้อมไปกับการสร้างอุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคตที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้ากับทิศทาง การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ผลักดันให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม ให้มีความสอดคล้องกับเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนสู่อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตที่สร้าง มูลค่าเพิ่มสูง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัญหาเรื้อรังของอุตสาหกรรมนวัตกรรมของประเทศไทย คือ ปัญหาในเรื่องของมาตรฐานสินค้า จากกระบวนการเข้าสู่การตรวจสอบและรับรองเพื่อให้ได้รับเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม ยังมีความไม่เข้าใจระหว่างผู้ประกอบการอุตสาหกรรม กับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้สินค้านวัตกรรมหลายรายการยังไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบและรับรองเพื่อให้ได้รับเครื่องหมาย มอก.ได้
"สมาคมนักประดิษฐ์และนวัตกรรมแห่งประเทศไทยจึงได้จัดสัมมนาเพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนตระหนัก และให้ความสำคัญต่อการผลักดันให้สินค้านวัตกรรมไทยทุกรายการเข้าสู่มาตรฐานสินค้าอุตสาหกรรม เพื่อยกระดับการแข่งขัน ซึ่งเป็นภารกิจที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุนด้านมาตรฐาน สนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมนวัตกรรมในประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหลักการสากล ต้องทำให้การผลิต หรือผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานที่เป็นสากล ต้องใส่ใจกับสภาพแวดล้อม คำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน มีกระบวนการที่ทุกคนเข้าถึงได้ มีสถาบันที่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบได้ และเปิดกว้างในทุกระดับ"
อย่างไรก็ดี สมาคมมองว่าภาครัฐมีบทบาทสำคัญมากต่อการขับเคลื่อน และสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นได้ด้วยการเป็นพาร์ทเนอร์ หรือหุ้นส่วนความยั่งยืน ร่วมกับภาคเอกชนและประชาสังคม ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทายของประเทศไทย หากจะมุ่งเน้นการก้าวสู่ความยั่งยืน โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ยั่งยืน
และสอดคล้องกับขีดความสามารถในการรองรับระบบนิเวศอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างไร สมาคมจึงต้องจัดเวทีสัมมนาเพื่อพูดคุยกันในประเด็นดังกล่าวนี้