นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมประกาศมาตรฐานเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลด้านการเมาแล้วขับ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมถึงส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรทางการแพทย์
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้อ้างอิงในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ซึ่งจะช่วยลดความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยเฉพาะนักดื่มสายแข็งที่เมาแล้วขับ และมักจะร้องเรียนกล่าวหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยบอร์ดสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีมติเห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา
นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการ สมอ. รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) กล่าวว่า การประชุมบอร์ด สมอ. เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา บอร์ดยังเห็นชอบแผนการจัดทำมาตรฐานของ สมอ. ประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เสนอทั้งหมด 600 มาตรฐาน
แบ่งเป็นมาตรฐานกำหนดใหม่ 443 มาตรฐาน และมาตรฐานเดิมที่ต้องทบทวนให้ทันสมัยอีก 157 มาตรฐาน ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรม S-curve 105 มาตรฐาน เช่น ยานยนต์สมัยใหม่ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ฯลฯ กลุ่ม New S-curve 120 มาตรฐาน เช่น หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม การบินและโลจิสติกส์ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ การแพทย์ครบวงจร ฯลฯ
กลุ่มมาตรฐานตามนโยบาย 32 มาตรฐาน เช่น นวัตกรรม สมุนไพร ฯลฯ กลุ่มส่งเสริมผู้ประกอบการ 163 มาตรฐาน และกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ 23 มาตรฐาน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ฯลฯ
นายวันชัย พนมชัย รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กล่าวว่า มาตรฐานเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์จากลมหายใจมีข้อกำหนดที่สำคัญ เช่น วัดความเที่ยงตรงแม่นยำของเครื่องวัดปริมาณแอลกอฮอล์ โดยการฉีดก๊าซเข้าเครื่องวัดแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ 20 ครั้ง เพื่อจำลองลมหายใจของผู้ขับขี่ ต้องได้ค่าความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ที่อ่านได้จากเครื่องวัดที่มีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ในเกณฑ์การยอมรับของเครื่องมือ คือ ไม่เกิน 4 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์
โดยกำหนดปริมาณลมที่หายใจออก ต้องไม่น้อยกว่า 1.2 ลิตร และเวลาที่หายใจออกต้องไม่น้อยกว่า 5 วินาที เครื่องวัดแอลกอฮอล์ต้องจัดเก็บข้อมูลผลการวัดสำหรับการใช้งาน และสามารถเรียกดูได้แต่ไม่สามารถปรับแก้ไขข้อมูลได้
และแสดงผลเป็นตัวเลขที่ถูกต้องชัดเจน เป็นต้น คาดว่าจะประกาศใช้มาตรฐานนี้ได้ภายใน 2 เดือน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้