วันนี้ (31 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ได้รับทราบข้อหารือของนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.แรงงาน เกี่ยวกับการเสนอของบกลางจากรัฐบาล เพื่อจ่ายเงินเยียวยาช่วยเหลือแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล เพิ่มอีกคนละ 50,000 บาท เพิ่มเติมจากเดิมที่รัฐบาลจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศคนละ 15,000 บาท และเมื่อรวมเงินทั้งสองก้อนแล้วแรงงานไทยจะได้เงินเยียวยาคนละ 65,000 บาท
“รมว.แรงงาน ได้เสนอเรื่องนี้ในที่ประชุมเป็นกรณีพิเศษว่า เงินเยียวยาแรงงานไทยที่กลับจากอิสราเอล ซึ่งรัฐบาลได้ช่วยเหลือไปแล้วคนละ 15,000 บาท อาจไม่เพียงพอ จึงเสนออนุมัติงบกลางจ่ายให้เพิ่มเติมอีกคนละ 50,000 บาท และให้มีผลย้อนหลังไปถึงแรงงานไทยที่กลับมาก่อน 5,000 – 6,000 คน ด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับปากแล้วว่า จะพิจารณาในครม.ครั้งต่อไป ซึ่งกระทรวงแรงงานจะต้องทำคำเสนอมาให้ถูกต้องด้วย” นายชัย ระบุ
ขณะเดียวกัน รมว.แรงงาน ยังขอหารือในครม.เพิ่มเติมถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยกลับจากอิสราเอลที่เป็นหนี้กับสถาบันการเงินด้วยว่า จะเสนอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาพักหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย กับแรงงานไทยทุกคนที่กลับจากอิสราเอล ที่มีมูลหนี้ไม่เกิน 150,000 บาท เป็นระยะเวลา 1 ปี ซึ่งจะเสนอเข้ามาในครม.ครั้งต่อไป ส่วนงบกลางที่จะนำมาใช้นั้น จะไปพิจารณาจำนวนแรงงานอีกครั้ง เพื่อสรุปวงเงินงบกลางที่ต้องเสนอขอกับสำนักงบประมาณอีกครั้ง
นายชัย กล่าวว่า ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบโครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) เพื่อให้แรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลชำระหนี้ที่กู้ยืมสำหรับการไปทำงานที่ประเทศอิสราเอล หรือเพื่อลงทุนประกอบอาชีพภายหลังจากเดินทางกลับมาประเทศไทย
โดยธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อวงเงินแห่งละ 1,000 ล้านบาท รวม 2,000 ล้านบาท ให้แรงงานไทยที่ไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลที่ประกอบอาชีพเดิม คือค้าขายหรืออาชีพอิสระ (ขอสินเชื่อผ่านธนาคารออมสิน) หรือเป็นเกษตรกรหรือบุคคลในครัวเรือนเกษตรกร (ขอสินเชื่อผ่าน ธ.ก.ส.) ประกอบด้วย
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ประเมินว่า โครงการสินเชื่อคืนถิ่นแรงงานไทย (อิสราเอล) จะสามารถช่วยเหลือแรงงานไทยที่เดินทางกลับจากประเทศอิสราเอลผ่านแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำได้อย่างเพียงพอ ซึ่งจะมีส่วนช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้แรงงานไทยที่เดินทางกลับประเทศมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการเริ่มต้นประกอบอาชีพหรือแบ่งเบาภาระหนี้สิน เพื่อบรรเทาและป้องกันความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในระยะต่อไป