การประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติม เงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน วันก่อน ได้ข้อสรุปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท หลังจากที่ประชุมไฟเขียวรายละเอียดและเงื่อนไขต่าง ๆ ของโครงการเสร็จสิ้น
ก่อนที่นายกรัฐมนตรี จะจับไมค์แถลงด้วยตัวเองยาว 30 นาที ไล่เรียงรายละเอียดของนโยบายชิ้นโบแดง “เงินดิจิทัล 10,000 บาท” ตั้งแต่เหตุผล ความจำเป็น หลักเกณฑ์ เงื่อนไข รวมไปถึงประเด็นใหญ่นั่นคือ “แหล่งเงิน” ที่จะนำมาใช้สำหรับขับเคลื่อนโครงการ
นายกฯ กล่าวถึงประเด็นเรื่องแหล่งเงินว่า โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีกรอบวงเงินกลม ๆ 5 แสนล้านบาท ซึ่งจะจ่ายให้กับคนไทยมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท โดยแหล่งเงินหลักจะใช้กลไกการออกพระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท
“การออก พรบ. เป็นวงเงิน 500,000 ล้านบาท ซึ่งต้องผ่านกระบวนการการตีความโดยกฤษฎีกา เพื่อให้การออก พรบ. กู้เงินดังกล่าว เป็นไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และไม่ขัดต่อหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องการออก พรบ. จะมีความโปร่งใส ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา มั่นใจว่า ในที่สุดแล้วกฎหมายจะได้รับการอนุมัติโดยรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 พรบ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561”
พร้อมบอกอีกว่า พรบ.การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet ให้เป็นไปด้วยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และรัฐบาลจะทำการกู้เงิน ก็ต่อเมื่อ มีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด
“ทุกท่านไม่ต้องห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน รัฐบาลจะมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณมาเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี” นายกฯ ย้ำอีกรอบ
สำหรับการออก พรบ.กู้เงิน กว่า 5 แสนล้านบาท รอบนี้ ก่อนจะถึงเวลาที่นายกฯ ยืนแถลงต่อสื่อมวลชนในเวลา 14.00 น. ในการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ซึ่งเริ่มประชุมเมื่อเวลาประมาณ 11.15 น. ได้มีการท้วงติงเรื่องการออกกฎหมายกู้เงินกันอย่างหนัก เพราะกรณีการออก พรบ.ขึ้นมานั้น ถือเป็นตัวเลือกสุดท้ายของการจัดหาแหล่งเงินมาเสิร์ฟโครงการ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เล่าให้ฟังถึงบรรยากาศในห้องประชุมว่า มีหน่วยงานที่แสดงความไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนนั่นคือ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งทักท้วงรายละเอียดของโครงการหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องของการออกพรบ.กู้เงิน โดยตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการในลักษณะนี้จะขัดต่อ พรบ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ เพราะต้องมีที่มาชัดเจน ไม่ใช่อยู่ ๆ จะเอาเงินเข้ามาใส่ โดยไม่มีสินทรัพย์ใดมารองรับ
ขณะเดียวกันหากออกพรบ.กู้เงินมากถึง 5 แสนล้านบาท อาจจะทำให้ในปีหน้ามีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาเงินเฟ้อขึ้นได้ ซึ่งเรื่องดังกล่าว ธปท. ได้พยายามระมัดระวัง และเป็นห่วงมาโดยตลอด
ขณะที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การออก พรบ.กู้เงิน เป็นเรื่องใหญ่ ในทางปฏิบัติการจะออกกฎหมายฉบับใหญ่แบบนี้จะต้องมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปเสียก่อน เพื่อจะได้พิจารณา และรับฟ้องข้อคิดเห็น หรือข้อแนะนำต่าง ๆ แต่เมื่อทางฝ่ายนโยบายเลือกแนวทางนี้ออกมา ก็ได้เสนอแนะว่า อยากให้มีการไปหารืออีกครั้งให้เกิดความรอบคอบ และรัดกุมมากกว่านี้ เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในภายหลัง
แหล่งข่าว ระบุด้วยว่า ในการหารือยังมีการทักท้วงเกี่ยวกับเงื่อนไขต่าง ๆ ซึ่งได้ผ่านการหารือในคณะอนุกรรมการฯ มาแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายบางเรื่องกลับไม่ได้นำมาพิจารณา ทำให้เกิดการมองว่า การทำงานแบบนี้ไม่ให้เกียรติกับคณะอนุกรรมการฯ ที่มีผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน ซึ่งนายกฯ เป็นคนตั้งเองมากับมือ
ตัวอย่างของเงื่อนไขที่ได้มีการหารือกันมาจนได้ข้อสรุปแล้ว เช่น การเสนอทางเลือกให้ที่ประชุมพิจารณาให้เงินดิจิทัลแบบเฉพาะกลุ่ม ซึ่งในที่ประชุมครั้งนี้ ธปท. และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ยังได้หยิบยกขึ้นมาเสนอว่าควรจะให้แบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่มีความเดือดร้อน ที่มีอยู่ประมาณ 16 ล้านคน
แต่ท้ายที่สุดนายกฯ ได้ตัดสินใจจะให้เงินกับคนไทย 50 ล้านคน เพราะเชื่อว่าจะเกิดการใช้จ่ายและมีผลดีต่อระบบเศรษฐกิจมากกว่า และเมื่อมีการตัดสินใจเลือกแนวทางนี้ ธปท. และสภาพัฒน์ จึงขอให้ที่ประชุมลงบันทึกไว้ในรายงานการประชุมด้วยว่า ทั้งสองหน่วยงานยืนยันหลักการว่าควรจ่ายให้กลุ่มเปราะบางมากกว่า
ด้าน ผู้ว่าฯ ธปท. เสริมอีกว่า ในการประชุมคณะกรรมการครั้งนี้ได้มีการพิจารณาวาระต่าง ๆ เร็วมาก ใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่นาที และเกรงว่า อาจจะทำให้บางเรื่องที่หารือไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างรัดกุมและรอบคอบ
แหล่งข่าว ระบุว่า ผู้ว่าฯ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้บอกในที่ประชุมอย่างชัดเจนว่า ข้อมูลที่เสนอมายังมีเหตุผลไม่เพียงพอ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เห็นด้วยและไม่ขอร่วมพิจารณาในเรื่องนี้
แต่สุดท้ายในการประชุมนายกฯ ก็ได้ตัดสินใจเห็นชอบเงื่อนไขใหม่ คือ จ่ายให้กับคนไทยมีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท รวม 50 ล้านคน และจะออก พ.ร.บ.กู้เงิน วงเงิน 5 แสนล้านบาท ก่อนจะมาแถลงต่อสื่อมวลชน โดยตอนหนึ่งของการแถลงนายกรัฐมนตรี ระบุว่า
“นี่ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล หรือ Partnership ในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ในขณะที่ยังรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐทุกประการ ผมขอให้ประชาชนทุกคนที่ได้รับสิทธิร่วมกันใช้จ่ายด้วยความภาคภูมิใจ โดยทุกคนล้วนเป็นผู้ร่วมสร้างการเจริญเติบโตและความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับประเทศของเรา”