รายงานข่าวจากจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2566 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมติดตามและเตรียมความพร้อมการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย–มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร (กม.) รวม 30 สถานี โดยมีกรมการขนส่งทางราง (ขร.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ปัจจุบันภาพรวมโครงการฯ มีความคืบหน้า 99.992% ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างทางขึ้น–ลงสถานีบริเวณ 3 สถานีได้แก่ สถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11), สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และสถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13)
ในช่วงการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงในวันที่ 21 พ.ย.66นั้น จะมีบางทางออก (Exit) ของบางสถานีที่ยังไม่พร้อมเปิดให้บริการ แต่สามารถเปิดให้บริการประชาชนและมีความปลอดภัย ทั้งนี้ยืนยันว่าจะเสร็จครบ 100% ก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ
ขณะเดียวกันในวันที่ 21 พ.ย. 2566 ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย ครม. จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม และเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริงโดยให้ประชาชนทดลองนั่งฟรีในช่วงบ่าย
ทั้งนี้อยู่ระหว่างการรอยืนยันอย่างเป็นทางการอีกครั้ง จากนั้นจะเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ในวันที่ 18 ธ.ค. 2566 ตั้งแต่เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป
สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี รวม 30 สถานี ราคาเริ่มต้น 15 บาท สูงสุด 45 บาท ส่วนผู้สูงอายุ ราคาเริ่มต้น 8 บาท สูงสุด 23 บาท
อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่ 2 ที่จะเปิดให้เปิดบริการในประเทศไทย ซึ่งเป็นโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (M-MAP) มีจุดประสงค์เชื่อมต่อการเดินทางระหว่างเขตมีนบุรี กรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี มีระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร (กม.) รวมทั้งหมด 30 สถานี