ที่ผ่านมารัฐบาลเพื่อไทยง่วนอยู่กับการออกและปรับหลักเกณฑ์โครงการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะวิกฤต หากไม่มีการกระตุ้นจะทำให้ในระยะยาวการเติบโตของเศรษฐกิจอาจช้ากว่าที่ควร แล้วยังไม่นับรวมกับอีกหลายเหตุผลที่สนับสนุนให้โครงการดังกล่าวแลดูมีความจำเป็น
ระหว่างที่รัฐบาลกำลังเร่งเดินหน้าเต็มที่ในโครงการดิจิทัล วอลเล็ต จนถึงล่าสุด กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักวิเคราะห์ไปในทางเดียวกัน ว่าแท้จริงแล้วไทยยังไม่ถึงขั้นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยยาแรงในระดับ 5 แสนล้านบาทที่มาจากเงินกู้
นอกจากนี้ยังมีความคิดเห็นในเชิงการสื่อสารของภาครัฐ ว่าไม่ชัดเจนมีผู้ให้ข่าวมากเกินไป และแต่ละคนมักจะมีการให้ข่าวขัดแย้งกัน ไม่ชัดเจน ส่งผลถึงความเชื่อมั่นทั้งภาคเอกชน ประชาชน และนักลงทุนต่างชาติ
นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังไม่ถือว่าวิกฤต ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น แต่ถ้าหนี้สาธารณะใกล้ 70% ของ GDP ก็น่ากังวล ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รัฐบาล ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีขนาด GDP ที่เพิ่มขึ้น หนี้สาธารณะจะได้มีสัดส่วนที่น้อยลง
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการที่จะให้เศรษฐกิจเติบโตได้ปีละ 5% แต่หากดูจากสถิติย้อนหลังชัดเจนว่าเป็นไปได้ยาก หรือหากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่กำลังจะออกมาในปีหน้าจะสามารถช่วยให้เติบโตได้ถึง 5% ได้จริง คำถามคือปีถัด ๆ ไปจะทำอย่างไรให้เติบโตได้ 5% ตลอด 4 ปี
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ทั้งภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวในประเทศก็ยังไม่ชัดเจน ขณะที่นโยบายลดค่าครองชีพ ทั้งราคาไฟฟ้า และราคาน้ำมัน ก็จะหมดลง จึงเป็นความท้าทายพอสมควร
สำหรับการสื่อสารที่รัฐบาลทำมาในช่วงหลายเดือนนี้ คือการบอกกับประชาชนว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในภาวะวิกฤต เพื่อเป็นเหตุผลสนับสนุนโครงการดิจิทัล วอลเล็ต แต่ในทางกลับกันการสื่อสารในลักษณะดังกล่าวไปส่งผลต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพราะนอกจากจะวิกฤตแล้วรัฐบาลยังมุ่งเน้นออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นเป็นส่วนใหญ่
“การสื่อสารผิดพลาด มีคนให้ข่าวเยอะเกินไป นักลงทุนถอนออก บางนโยบายยังไม่ชัดเจน แต่มีข่าวออกมาค่อนข้างมาก ต้องคุยกันให้ชัดเจนก่อนที่จะออกข่าว การประชุมและจัดแถลงข่าวของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ตลาดแตกตื่น นักลงทุนมีความกังวล”
ด้านนายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะไม่ออกโครงการแจกดิจิทัล วอลเล็ต 1 หมื่นบาท เศรษฐกิจไทยในปีหน้าก็น่าจะเติบโตได้ที่ 3.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนคือการท่องเที่ยวและภาคการส่งออกที่น่าจะฟื้นตัวกลับมาเป็นบวก แม้ว่าไม่มีเม็ดเงิน 5 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลก็มีงบกลางในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่แล้ว
ส่วนคำถามที่ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะวิกฤตหรือไม่นั้น หากมองในเชิงการเติบโตถือว่าไม่วิกฤต เพราะยังเติบโตได้ แต่ถ้ามองในระดับปัจเจกชนรายกลุ่ม จากการเก็บข้อมูลด้วยการลงพื้นที่พบเสียงสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจในระดับพื้นที่หลายแห่ง แสดงว่าปัญหาคือการกระจายตัวของเศรษฐกิจมากกว่า
“การท่องเที่ยวกระจุกตัวในจังหวัดท่องเที่ยว ถ้าลองคุยกับโรงแรมสามดาวในพื้นที่ต่าง ๆ จะพบว่ายังไม่ฟื้นตัวจากโควิด เช่นเดียวกับ SMEs ในแต่ละภูมิภาค ก็ยังไม่ฟื้น ได้รับผลกระทบตากสินค้าเกษตร ราคาต้นทุนสินค้าแพงขึ้น รัฐควรออกนโยบายดูแลคนกลุ่มนี้”
ขณะเดียวกันถ้ารัฐบาลมองว่าเศรษฐกิจโตช้าและอาจเข้าขั้นวิกฤตในช่วงหลายปีต่อจากนี้ ก็ต้องมองในความเป็นจริงว่าไทยเราเศรษฐกิจเติบโตแบบถดถอย ในทุกครั้งที่ผ่านภาวะวิกฤตต่าง ๆ ดังนั้นจึงเห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องทำในเชิงโครงสร้าง เช่น การเรื่องเจรจาการค้าเสรี และส่งเสริมการลงทุน
สำหรับเรื่องการสื่อสารของรัฐบาล ถือเป็นเรื่องสำคัญ ที่ผ่านมามีผู้ให้ข่าวหลายคน ซึ่งสามารถทำได้ แต่ต้องชัดเจนและครอบคลุม รวมถึงต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีที่มาที่ไป ไม่ควรเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา รอชัดเจนแล้วค่อยพูด ซึ่งเชื่อมั่นว่าในอนาคตควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยน
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า เศรษฐกิจไทยกำลังมีวิกฤตในระยะยาว คือการเติบโตของเศรษฐกิจที่ต่ำลงเรื่อย ๆ หลังผ่านวิกฤติแต่ละครั้ง จากปีละ 7% ก่อนวิกฤตต้มยำกุ้ง สู้ปีละ 3% หลังผ่าน วิกฤตโควิด19
ส่วนการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในระยะสั้น คือการที่เศรษฐกิจไทยเติบโตติดลบอย่างเช่นในช่วงวิกฤตโควิด 19 ที่ผ่านมา ดังนั้นการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นด้วยการแจกเงินจึงมีความจำเป็น ซึ่งไม่ใช่สถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยกำลังเป็นอยู่
“เศรษฐกิจไทยปีนี้โตกว่าที่คาดไว้ประมาณ 1% นั่นหมายความว่าเงินหายไปจากระบบประมาณ 1.7 แสนล้านบาท หากจะกระตุ้นในส่วนนี้จริง ๆ แล้วใช้เงินแค่ 8 หมื่นล้านบาทกระตุ้นเศรษฐกิจให้ได้ 2 รอบ ก็เพียงพอ ต่อเม็ดเงินที่หายไป แต่ในร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ล่าสุดนั้น ชัดเจนว่าเงินส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมากเกินไป”
สำหรับประเด็นเรื่องการสื่อสารของรัฐบาล ถือว่ามีปัญหาแน่นอน เพราะมีหลายครั้งที่ออกมาสื่อสารแล้วขัดกัน หลายคนให้ข่าวที่แตกต่างกัน ไม่ใช่แค่เรื่องดิจิทัล วอลเล็ต แต่มีเรื่องอื่น ๆ ด้วย แสดงให้เห็นกลยุทธการสื่อสารที่ผิดพลาด ซึ่งต้องพัฒนาขึ้นกว่า เพราะส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากทุกฝ่าย สิ่งสำคัญคือกำหนดตัวบุคคลหรือหน่วยงานผู้สื่อสารให้ชัดเจน และรอให้ชัวร์ชัดเจนก่อนจึงแถลงข่าวออกมาจะดีกว่า