ลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10000 วันไหน ใช้เมื่อไหร่ ซื้ออะไรได้บ้าง เช็กที่นี่

16 พ.ย. 2566 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :14 พ.ค. 2567 | 03:50 น.

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ล่าสุด เช็คไทม์ไลน์ลงทะเบียน การเริ่มใช้เงินครั้งแรก ระยะเวลาสิ้นสุดการใช้เงินของประชาชน ร้านค้า พร้อมเงื่อนไข ซื้ออะไรได้ไม่ได้

โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ด้วยการอัดฉีดเงิน 500,000 ล้านบาทเข้าไปในระบบเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น หลังจากนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลสรุปการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา

ตามไทม์ไลน์รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า เงินดิจิทัล 10,000 บาท จะเปิดให้ประชาชนได้ใช้ในช่วงปลายปี 2567 

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังมีปัญหาในเรื่องข้อกฎหมายอีกหลายด้าน จึงยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถเปิดให้ลงทะเบียน การเริ่มใช้เงินครั้งแรก ได้วันไหน

เพื่อความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินโครงการ เงินดิจิทัล 10,000 บาท ล่าสุดรัฐบาลได้จัดทำเอกสารอธิบาย 13 คำถามคาใจ Digital Wallet ฉบับประชาชน หนึ่งในนั้น เป็นการชี้แจงเรื่อง ระยะเวลาการลงทะเบียนเงินดิจิทัล 10,000 การเริ่มใช้เงินครั้งแรก ระยะเวลาสิ้นสุดการใช้เงินของประชาชน ระยะเวลาสิ้นสุดการใช้เงินของร้านค้า พร้อมเงื่อนไข ซื้ออะไรได้ไม่ได้ ดังนี้

คุณสมบัติของผู้รับสิทธิรับเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป
  • มีเงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาท และ มีเงินฝากทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท (ถ้าเงินเดือน 70,000 บาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ แม้ว่าเงินฝากมีไม่ถึง 500,000 บาท และถ้ามีเงินฝากเกิน 500,000 บาท แต่เงินเดือนไม่ถึง 70,000 บาทก็จะไม่ได้รับสิทธินี้เช่นกัน)
  • ในส่วนของเงินฝากที่กำหนดให้ทุกบัญชีรวมกันไม่เกิน 500,000 บาทจะนับเฉพาะเงินฝากในระบบธนาคารทุกบัญชีเท่านั้น ไม่รวมสลากออมทรัพย์ การลงทุนในหุ้น การลงทุนในกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ บัญชีเงินฝากในสหกรณ์

ไทม์ไลน์เงินดิจิทัล 10,000 บาทลงทะเบียนวันไหน ใช้เมื่อไหร่

  • มีนาคม 2567 ลงทะเบียน/ยืนยันสิทธิเงินดิจิทัล 10,000 บาท โดยยึดอำเภอตามทะเบียนบ้าน
  • พฤษภาคม-มิถุนายน 2567 เริ่มใช้เงินดิจิทัล 10,000 บาทครั้งแรก ผ่านแอปเป๋าตัง โดยประชาชนต้องใช้จ่ายภายในอำเภอตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
  • ตุลาคม 2567 สิ้นสุดระยะเวลาการใช้เงินของประชาชน
  • เมษายน 2570 สิ้นสุดระยะเวลาการใช้เงินของร้านค้า

ไทม์ไลน์เงินดิจิทัล 10000

เงินดิจิทัล 10,000 บาท ซื้ออะไรได้ ไม่ได้

  • ประชาชนจะสามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น
  • ไม่สามารถใช้กับบริการได้
  • ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้
  • ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม
  • ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้
  • ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้
  • ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอม ได้
  • ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้
  • แลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้

คุณสมบัติร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท

  • ใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี
  • ไม่จำเป็นต้องจด VAT
  • ร้านค้ารถเข็น ร้านโชห่วย ร้านค้าที่อยู่บนแอปเป๋าตัง ใช้ได้หมด แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ
  • ร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น

เงินดิจิทัล 10000 คุณสมบัติร้านค้า ซื้ออะไรได้ ไม่ได้

 

 

 

ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ได้ประกาศแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้ร้านค้า และ ประชาชนลงทะเบียนในไตรมาส 3 และ ใช้จ่ายในไตรมาส 4

เงื่อนไขแจกเงินดิจิทัล

กลุ่มเป้าหมาย  ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน โดยมีเกณฑ์ ได้แก่

• อายุ 16 ปีขึ้นไป ณ เดือนที่มีการลงทะเบียน

• ไม่เป็นผู้ที่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 840,000 บาทต่อปีภาษี

• มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกันไม่เกิน 500,000 บาท

เงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน – ใช้ได้ที่ไหนบ้าง?

• ใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้า ในพื้นที่ระดับอำเภอ โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น

• ใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้า

เงื่อนไขการซื้อสินค้า

• สามารถซื้อสินค้าได้ทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข, น้ำมัน, การบริการและซื้อของออนไลน์ รวมถึงสิ่งที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเพิ่มเติม

ระบบที่จะใช้งาน

• ใช้งานผ่านระบบที่รัฐบาลพัฒนาขึ้นในลักษณะ Super App ซึ่งจะพัฒนาให้ใช้กับธนาคารอื่น ๆ ได้

งบประมาณที่ใช้

• เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 จำนวน 152,700 ล้านบาท

• การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ จำนวน 172,300 ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จาก ธ.ก.ส. ซึ่งจะดูแลเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ 17 ล้านคน ตาม ม.28 ของปีงบประมาณ 2568

• การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 175,000 ล้านบาท.