ท่ามกลางกระแสการวิพากษ์วิจารณ์การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการเติมเงินดิจิทัล วอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยว่า ไม่เหมาะสมและเป็นการหาทางลง เพื่อโยนความรับผิดชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบคำถามสังคม หากคณะกรรมกฤษฎีกาวินิจฉัยว่า การออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5แสนล้านบาท ขัดกับกฎหมายอื่น
ล่าสุดนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่ากระกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลไม่ได้มีแนวคิดเดินมาแบบนี้ เพื่อให้ถึงทางตันในการเสนอออก พ.ร.บ.เงินกู้ แต่พยายามผลักดันให้ถึงที่สุด คณะกรรมการนโยบายเงินดิจิทัล จึงได้ยื่นถามกฤษฎีกา จากนั้นจะเสนอ คณะรัฐมนตรี(ครม.) และสภาต่อไป บางฝ่ายไม่เห็นด้วย อาจส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ รัฐบาลพร้อมชี้แจงกับทุกฝ่าย
“ยอมรับว่า หากพ.ร.บ.กู้เงินไม่ผ่านนั้น ขณะนี้ไม่ได้มีแผนสำรอง เนื่องจากเชื่อว่า จะสามารถทำให้ผ่านได้ ที่มีการวิจารณ์ว่า เดินไปทางนี้เพื่อให้โครงการออกมาไม่ได้ ยอมรับว่า ไม่มีใครคิดเช่นนั้น เรามีหน้าที่ในการเดินหน้าโครงการ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ และดูแลประชาชน เราเชื่อมั่นว่า สามารถเดินต่อไปได้ เพราะไม่ว่าจะเป็นการออกพระราชกำหนด(พ.ร.ก.) หรือ พ.ร.บ. หรือใช้งบประมาณปกติ ก็ผ่านขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญทั้งหมด ซึ่งเดินทางไหนก็เจออุปสรรค รัฐบาลมองว่า ช่องทางนี้เป็นช่องทางที่ดีที่สุด และเราก็รับฟังความคิดเห็นมาแล้ว”นายจุลพันธ์ระบุ
อย่างไรก็ตาม กรณีประชาชนที่ไม่ได้รับเงินดิจิทัล สามารถใช้สิทธิผ่านโครงการ e-Refund ได้ โดยจะได้รับการลดหย่อนภาษีตามวงเงินที่จ่ายจริง 50,000 บาท ซึ่งจะได้รับเงินคืนกลับมา 10,000 บาทเท่ากับวงเงินเท่ากับการแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ตเช่นเดิม
หลังจากที่มีกระแสเรียกร้องจากภาคเอกชนให้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเหมือนที่เคยดำเนินการไม่ว่าจะเป็นช้อปช่วยชาติ หรือ ช้อปดีมีคืน นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า โครงการ e-Refund ที่จะให้สำหรับคนที่ไม่ได้รับสิทธิในเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพราะไม่เข้าเงื่อนไข ก็คือมาตรการดังกล่าว เพียงแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อใหม่เท่านั้น
ทั้งนี้โครงการ e-Refund จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และระยะเวลาโครงการจะสิ้นสุดในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้ประชาชนมีระยะเวลาในการใช้จ่ายได้ประมาณ 45 วัน โดยประชาชนจะได้รับภาษีคืนจากการจับจ่ายสินค้าและบริการ ตามส่วนที่จ่ายจริง มูลค่ารวมไม่เกิน 50,000 บาท
“โครงการ e-Refund มีลักษณะคล้ายกับมาตรการช้อปดีมีคืนประมาณ 90% โดยคาดว่า จะกำหนดให้มีระยะเวลาการใช้จ่ายนาน 45 วัน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2567 โดยการซื้อสินค้าและบริการที่จะได้สิทธิ e-Refund ต้องใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ใช้ e-Refund เท่านั้น”นายลวรณกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โครงการ e-Refund ถือเป็นโครงการที่ออกมาสำหรับประชาชนที่ไม่ได้รับสิทธิจากโครงการดิจิทัล วอลเล็ต ที่กำหนดเงื่อนไขว่า จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และจะต้องมีเงินฝากในบัญชีไม่เกิน 5 แสนบาท โดย โครงการ e-Refund จะช่วยให้คนไทยสามารถลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลจากการซื้อสินค้าและบริการมูลค่าไม่เกิน 50,000 บาท นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังจะทำให้ร้านค้าเข้าระบบภาษีดิจิทัลมากขึ้นด้วย
ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)ได้ร่วมกับพันธมิตร จัดกิจกรรม Amazing Thailand Passport Privileges ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2566-15 กุมภาพันธ์ 2567 โดยจะมอบบัตรแทนเงินสด เพื่อใช้จ่ายเที่ยวไทย รวมทั้งของระลึกจากชุมชนท่องเที่ยวจากภูมิภาคต่างๆ ให้แก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ พร้อมสิทธิพิเศษส่วนลดจากสถานประกอบการท่องเที่ยว อาทิ ห้างสรรพสินค้า/ศูนย์การค้า ภัตตาคาร/ร้านอาหาร ศูนย์สุขภาพ/สถานเสริมความงาม ฯลฯ ในพื้นที่เมืองท่องเที่ยว กรุงเทพ มหานคร ภูเก็ต และเชียงใหม่ คาดว่าจะสร้างรายได้ และเงินหมุนเวียนในช่วงของการดำเนินโครงการ ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท
ด้านนายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทยกล่าวว่า เชื่อว่านโยบายดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตได้ในระยะสั้น ทั้งยังช่วยในการอัดฉีดเม็ดเงินให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินอย่างมีศักยภาพ ช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพ ส่งเสริมธุรกิจของผู้ประกอบการทุกระดับ แต่ยังต้องมีความชัดเจนในการออกมาตรการและเงื่อนไขมากขึ้น เพื่อสร้างความเข้าใจและมั่นใจให้กับประชาชนและผู้ประกอบการโดยเฉพาะร้านค้ารายย่อย ร้านสตรีทฟู้ด โชว์ห่วย หาบเร่ แผงลอย
รวมถึงคำนึงถึงการพิจารณาปรับหลักเกณฑ์อย่างรัดกุมให้ปฏิบัติได้จริงเพื่อให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับความต้องการ ความสะดวกในการใช้งาน และเอื้อประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประชาชนและผู้ประกอบการ โดยขอเสนอแนะให้ขยับเวลาประกาศใช้ในเดือนเมษายนแทนพฤษภาคม จะเป็นการสร้าง impact ให้โครงการนี้มากยิ่งขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา
ด้านผู้บริหารระดับสูงในวงการค้าปลีก กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ด้วยเงื่อนไขของ e-Refund ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2567 นั้น ถือเป็นช่วงเวลาที่ไม่ถูกจังหวะเพราะมูดการจับจ่ายของคนจะอยู่ในช่วงเดือนธันวาคมเป็นหลัก หลังจากนั้นจะลดการใช้จ่าย ขณะที่ระยะเวลาเพียงแค่ 45 วันก็ไม่ช่วยให้เกิดการจับจ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้เห็นได้จากการจัดทำโครงการ ช้อปดีมีคืน ใน 2 ครั้งที่ผ่านมาคือ
“มาตรการนี้เคยทำมาแล้ว 2 ครั้งใน 2 ปี ผลตอบรับน่าจะเป็นกรณีศึกษาที่ดี ว่า ช่วงเวลาที่ทำไม่เหมาะสม โมเมมตัมไม่ได้ ระยะเวลา 45 วันถือว่าน้อยเกินไป และไม่ใช่ช่วงเวลาที่คนไทยใช้จ่ายเป็นหลัก เหมือนกับช่วงเดือนเมษายน ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับถิ่นฐานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือพฤษภาคมที่เป็นช่วงเปิดเทอมผู้ปกครองต้องใช้จ่ายซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อรัฐบาลเห็นสมควรให้มีมาตรการ e-Refund เพราะเห็นว่าเหมาะสมและไม่มีอะไรจะเสีย (สูญเสียแค่ภาษีที่จัดเก็บได้เล็กน้อย) ก็ควรทำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และเห็นผลได้จริง”
ขณะที่นางสาววรลักษณ์ ตุลาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า มาตรการ e-Refund เป็นมาตรการของภาครัฐที่ดีและคาดว่าจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เป็นอย่างมาก เพราะเชื่อว่าการให้ e-Refund จะได้กลุ่มลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่ง ที่อาจจะกระจายรายได้ไปอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มบนได้ โดยคาดว่ากลุ่มที่จะใช้มาตรการ e-Refund น่าจะตรงกับกลุ่มเป้าหมายของ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่ม B+
นอกจากนี้ยังต้องการเรียนเสนอให้ภาครัฐฯพิจารณา เลื่อนช่วงเวลา เริ่มแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทให้เร็วขึ้น เป็นช่วงเดือนเมษายน 2567 จากเดิมพฤษภาคม เพราะเป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ก็จะสามารถกระตุ้นการใช้จ่ายในวันหยุดยาวได้มากขึ้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สถานการณ์ศรษฐกิจของไทยขณะนี้ มีความจำเป็นที่ภาครัฐต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีปัจจัยลบหลายเรื่องทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ปัญหาหนี้ครัวเรือน ปัญหาหนี้นอกระบบ ดังนั้นหากสามารถเลื่อนโครงการ e-Refund ที่จะดำเนินการในเดือนมกราคม 2567 มาเป็นช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี
“การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 67 ล่าช้าออกไปจากปกติไม่น้อยกว่า 6-8 เดือน โดยเฉพาะงบลงทุน หากไม่มีมาตรการกระตุ้น ก็จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้ลำบาก ภาคเอกชนคิดว่า ขณะนี้มีความจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ”นายเกรียงไกรกล่าว
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,941 วันที่ 19 - 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566