"SMEs"จ่อปิดกิจการพุ่ง หลังหนี้เสียลุกลามกว่า 6.1 หมื่นล้าน

21 พ.ย. 2566 | 03:18 น.
อัพเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2566 | 03:18 น.

"SMEs"จ่อปิดกิจการพุ่ง หลังหนี้เสียลุกลามกว่า 6.1 หมื่นล้าน ส.อ.ท.แนะะรัฐเร่งปัญหากลุ่มรหัส21 หวั่นกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจโดยรวม ระบุการช่วยเหลือด้วยการพักชำระดอกเบี้ยแค่ช่วยประวิงเวลา

นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อ.ท.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อประสานกับธนาคารพาณิชย์ และของภาครัฐที่จะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ของผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม หรือเอสเอ็มอี (SMEs) ที่เคยเป็นลูกหนี้ชั้นดีแต่ขาดสภาพคล่องจากผลกระทบโควิด-19 จนมีหนี้ค้างชำระเกิน 90 วัน

หรือลูกหนี้ที่ได้รับรหัสสถานะบัญชี 21 ซึ่งเป็นสมาชิกของส.อ.ท.อยู่ประมาณ 12,898 บริษัท รวมยอดหนี้ 61,000 ล้านบาท เนื่องจากมีแนวโน้มว่าหลายกิจการกำลังเข้าสู่การเป็นหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอล (NPL) หากปล่อยไว้จะทำให้ต้องทยอยปิดกิจการในสิ้นปีนี้ซึ่งจะกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจไทยโดยรวม

สำหรับเอสเอ็มอีรหัส 21 นั้น ก่อนหน้านี้เคยเป็นลูกหนี้ที่จ่ายเงินปกติ ไม่มีประวัติผิดนัดชำระ แต่จากเหตุการณ์โควิดส่งผลให้ไม่สามารถใช้หนี้ได้ปัจจุบันซึ่งในส่วนของสมาชิก ส.อ.ท.เองมีประมาณ 12,898 บริษัท รวมยอดหนี้ 61,000 ล้านบาทแบ่งเป็นหนี้กับธนาคารพาณิชย์ 36,000 ล้านบาท ที่เหลือเป็นหนี้กับสถาบันการเงินของภาครัฐ

แต่หากรวมกับกิจการที่ไม่ใช่สมาชิก ส.อ.ท.ตามข้อมูลลูกหนี้เอสเอ็มอีในรหัส 21 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทั้งหมด 3 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 3 แสนล้านบาท 

อย่างไรก็ดี เห็นว่าภาครัฐควรเร่งรัดการกำหนดมาตรการพักหนี้ให้กับเอสเอ็มอีการพักหนี้ แต่หากพักแค่การชำระดอกเบี้ยไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริงจำเป็นจะต้องหามาตรการที่ทำอย่างไรให้การชำระคืนหนี้แล้วเงินต้นลดลงไปด้วย 

ดังนั้นจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องเร่งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับโครงสร้างหนี้โดยเฉพาะทำอย่างไรให้เอสเอ็มอีเหล่านี้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาบริหารสภาพคล่องโดยอาจจะต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป เพื่อไม่ให้เอสเอ็มอีเหล่านี้ต้องเดินไปสู่การขาดสภาพคล่องจนต้องปิดกิจการ

นายอภิชิต กล่าวอีกว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีภาพรวมเองมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ขณะที่กำลังซื้อของคนไทยเองก็เปราะบาง รวมไปถึงการส่งออกชะลอตัว ทำให้บางส่วนขาดสภาพคล่อง 

ซึ่งปัจจุยันเอสเอ็มอีรหัส 21 เองก็ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มีปัญหาสภาพคล่องมากขึ้น ดังนั้นการแก้ไขน่าจะต้องดูเป็นรายๆ ไปเพื่อให้สามารถเร่งรับมือได้ทันการณ์ก่อนที่จะต้องปิดตัวลง