วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2566) นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ฉบับที่... (พ.ศ....) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้เงินได้ของบุคคลธรรมดาที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนใน “กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESG Fund หรือ TESG)” ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2575
พร้อมกำหนดให้ผู้มีเงินได้ไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีที่เงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมิณที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่กล่าวมา
ทั้งนี้ ต้องถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
1. ผู้มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์ – บุคคลธรรมดาที่มีรายได้
2. เงื่อนไขการได้รับสิทธิประโยชน์
จากการซื้อหน่วยลงทุน TESG
จากการขายหน่วยลงทุน TESG
จากการซื้อหน่วยลงทุน TESG ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนใน TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ในอัตราไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินได้เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้นๆ
จากการขายหน่วยลงทุน TESG ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินหรือผลประโยชน์ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ TESG มารวมคำนวณภาษีเงินได้ (เฉพาะกรณีที่คำนวณเงินหรือผลประโยชน์จากเงินที่ได้หักลดหย่อนกรณีซื้อหน่วยลงทุนใน TESG)
โดยการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thailand ESF Fund หรือ TESG) คาดว่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐ โดยสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปีแรกประมาณ 3,000 ล้านบาท และในปีถัด ๆ ไปปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ เพิ่มการลงทุนระยะยาวในตลาดทุนไทย อันจะทำให้เสถียรภาพของตลาดทุนไทยเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการลงทุนในกิจการที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเพิ่มขึ้น อันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ รวมทั้งเป้าหมายความเป้นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
เพื่อให้การดำเนินการตามร่างกฎกระทรวงดังกล่าวเป้นไปอย่างมีประสิทธิภาพเห็นควรที่ กค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการภาษีดังกล่าว รวมถึงสถานารณ์ ความจำเป็นและประโยชน์ที่จะได้รับให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในโอกาสแรก
รวมทั้งจัดทำประมาณการรายได้เพื่อกำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลางให้ถูกต้องครบถ้วน และใช้เป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการทางการเงินการคลังและงบประมาณของประเทศ พร้อมติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์ และรายงานผลการดำเนินงานตามมาตรการภาษีดังกล่าว ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ต่อไป