LGBTQ เฮ ! ครม.ไฟเขียวกฎหมายสมรสเท่าเทียม ดันเข้าสภา 12 ธ.ค.นี้ 

21 พ.ย. 2566 | 08:15 น.
อัปเดตล่าสุด :21 พ.ย. 2566 | 09:39 น.

กลุ่ม LGBTQ เฮ ! ที่ประชุม ครม. รับรองกฎหมายสมรสเท่าเทียม เตรียมส่งสภาพิจารณาสมัยประชุมหน้า 12 ธันวาคมนี้ เผยปิดช่องว่างของร่างกฎหมายคู่ชีวิตให้สิทธิตามกฎหมายเท่าเทียมเหมือนคู่สมรสปกติ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ 21 พฤศจิกายน 2566 มีการประชุมหลายเรื่อง โดยวันนี้ ครม.ได้รับรองร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อใช้รับรองการเรื่องสมรสเท่าเทียม แล้วจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในสมัยประชุมหน้าที่จะเปิดในวันที่ 12 ธันวาคมนี้ 

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2566) ว่า นายกรัฐมนตรี เตรียมนำเรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียม เข้าสู่การพิจารณาของสภาในวันที่ 21 ธันวาคม 2566 นี้เพื่อบรรจุเป็นวาระที่จะเข้าในการเปิดสมัยประชุมสภาฯ ต่อไปซึ่งจะเริ่มต้นประมาณต้นเดือนธันวาคม 2566 

สำหรับสาระสำคัญเมื่อเทียบกับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กับ ร่าง พ.ร.บ.คู่สมรสนั้น มีความแตกต่างกัน โดยนายชัย โฆษกประจำสำนักนายกฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต เข้าที่ประชุมสภา สำหรับ พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ มีความแตกต่างกัน คือ ถ้ามีแต่พ.ร.บ.คู่ชีวิตฯ จะเป็นการรับรอง ชายแต่งกับชาย หรือ หญิงแต่งกับหญิง แต่งงานเป็นคู่ชีวิตกันได้แต่เรื่องของสิทธิตามกฎหมายของคู่สมรสนั้นจะไม่ได้ 

ยกตัวอย่างเช่น กรณีชายกับชายเป็นสามีภรรยากัน หากใครคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป กฎหมายปกติถ้าเป็นชายกับหญิงคู่สมรสจะได้สิทธิทางกฎหมาย อาทิ มรดก สิทธิต่าง ๆ แต่ พ.ร.บ.คู่ชีวิตจะไม่ได้ แต่ถ้าหากเปลี่ยนเป็น พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมแล้วแม้ว่าจะเป็นหญิงกับหญิง หรือ ชายกับชาย ถือเป็นคู่สมรสที่จะได้สิทธิของคู่สมรสจากเดิมที่เป็นสามีภรรยากันมีอย่างไร คู่สมรสตามพ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ก็จะได้เหมือนกับคู่สมรสที่เป็นชายกับหญิงเหมือนกัน

พร้อมกันนี้นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้เปิดเผยเกี่ยวกับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (สมรสเท่าเทียม) ฉบับนี้ว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เพื่อให้บุคคล 2 คน ไม่ว่าเพศใดสามารถทำการหมั้นและสมรสได้

โดยแก้ไขคำว่า "ชาย" "หญิง" "สามี" "ภริยา" และ "สามีภริยา" เป็น "บุคคล" "ผู้หมั้น" "ผู้รับหมั้น" และ "คู่สมรส" เพื่อให้มีความหมายครอบคลุมคู่หมั้นหรือคู่สมรส ไม่ว่าจะมีเพศใด รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งจะทำให้บุคคลนั้นมีสิทธิ หน้าที่และสถานะทางครอบครัวเท่าเทียมกับคู่สมรสที่เป็นชายและหญิง

"เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายให้การรับรองสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวของคู่รักเพศเดียวกันซึ่งแตกต่างจากสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีคู่รักเพศเดียวกันอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวจำนวนมาก โดยขาดเครื่องมือทางกฎหมายในการจัดการความสัมพันธ์ทางครอบครัว

ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อครอบครัวหลากหลายทางเพศหลายประการ เช่น สิทธิในการตัดสินใจในการรักษาพยาบาล สิทธิในการอุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน และสิทธิในการรับมรดก

ประกอบกับคำแถลงนโยบายของคณะรัญมนตรี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 66 ซึ่งได้แถลงต่อรัฐสภาว่า รัฐบาลจะผลักดันให้มีกฎหมายสนับสนุนสิทธิและความเท่าเทียมของกลุ่มหลากหลายทางเพศ นายกรัฐมนตรีจึงมีข้อสั่งการ ให้กระทรวงยุติธรรม

เร่งดำเนินการเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่)..) พ.ศ..... (สมรสเท่าเทียม) ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในประเทศไทยทั้งในมิติด้านสังคมและการสร้างครอบครัว โดยจะทำให้เกิดการยอมรับในทางกฎหมายกับการสร้างครอบครัว การอยู่ร่วมกันของบุคคลมีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสเพศเดียวกัน

อีกทั้งกระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ในรูปแบบออนไลน์ทางเว็บไซต์ law.go.th และระบบ google forms บนเว็บไซต์ของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2566 - 14 พฤศจิกายน 2566 และได้รับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนกลุ่มศาสนา ได้แก่ ศาสนาพุทธ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 และผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอ (Video Conference) ร่วมกับทุกภาคส่วนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ จำนวน 4 ครั้ง ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566

โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ และรับฟังความเห็นในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มความหลากหลายทางเพศ และประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวาง

รวมทั้งได้จัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นร่วมกับผู้แทนส่วนราชการวันที่ 14 พฤศจิกายน 2566 โดยส่วนใหญ่เห็นชอบในหลักการ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปดำเนินการจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป