ปิดดีล ถกแหล่งเงินกู้ สร้าง “มอเตอร์เวย์เชื่อมอู่ตะเภา” 4.4 พันล้าน

22 พ.ย. 2566 | 05:40 น.
อัปเดตล่าสุด :22 พ.ย. 2566 | 05:44 น.

“ทางหลวง” เผย คลัง-ADB ปิดดีลถกขอแหล่งเงินกู้ สร้าง “มอเตอร์เวย์เชื่อมอู่ตะเภา” 4.4 พันล้านบาท เตรียมชงครม.ใหม่ของบปี 67 ภายในปีนี้ เร่งเปิดประมูลดึงเอกชนตอกเสาเข็ม ก.พ.-มี.ค.67

หลังจากกรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมเปิดให้บริการมอเตอร์เวย์สาย 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด แล้ว ปัจจุบันเตรียมเดินหน้าเปิดประมูลมอเตอร์เวย์เชื่อมสนามบินอู่ตะเภา เพื่อให้ผู้ใช้ทางสามารถใช้บริการได้สะดวกมากขึ้น แก้ปัญหาจราจรติดขัดในอนาคต

 

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า สำหรับความคืบหน้าโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา วงเงิน 4,508 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง วงเงิน 4,400 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 108 ล้านบาท ปัจจุบันกรมฯอยู่ระหว่างรอพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปีงบประมาณ 2567 เนื่องจากโครงการฯเป็นการก่อสร้างโดยขอใช้แหล่งเงินกู้ ซึ่งการใช้แหล่งเงินกู้จำเป็นต้องใช้แหล่งเงินสมทบของงบประมาณแผ่นดิน เบื้องต้นกรมฯคาดว่าจะขอตั้งงบประมาณปี 2567 อยู่ที่ 4,400 ล้านบาท ตามกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติก่อน

 

ทั้งนี้กระทรวงการคลังและสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ได้เจรจาแหล่งเงินกู้กับธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เรียบร้อยแล้ว โดยมีสัดส่วนเงินกู้ 80% หรือ 3,520 ล้านบาท และเงินงบประมาณ 20% หรือ 880 ล้านบาท ซึ่งเรื่องเงินกู้ได้บรรจุในแผนเงินกู้แล้ว ปัจจุบันกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างรองบประมาณปี 2567 เพื่อดำเนินการทำสัญญาเงินกู้ต่อไป คาดว่ากระทรวงการคลังจะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ภายในปีนี้
 

“การเจรจาขอแหล่งกู้ควรเป็นรูปแบบใดที่มีความเหมาะสมนั้น ทางกรมฯมองว่าเรื่องนี้กระทรวงการคลังเป็นผู้ตัดสินใจว่าควรใช้แหล่งเงินกู้ในรูปแบบไหนและขอแหล่งเงินกู้จากธนาคารใด เนื่องจากหลายโครงการที่ผ่านมากรมฯมักจะขอใช้แหล่งเงินกู้กับธนาคารแห่งนี้ ทำให้ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ค่อนข้างคุ้นเคยกับกรมฯในด้านขั้นตอนและระเบียบต่างๆ”  

 

นายปิยพงษ์ กล่าวต่อว่า หากกระทรวงการคลังจัดทำสัญญาร่วมกับธนาคารฯเพื่อขอใช้แหล่งเงินกู้แล้วเสร็จ กรมฯก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยกระบวนการเปิดประมูลเพื่อหาผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์หรือเดือนมีนาคม 2567 โดยใช้รูปแบบการประกวดราคานานาชาติ ซึ่งเป็นการเปิดประมูลตามเงื่อนไขที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กำหนด คาดว่าได้ตัวผู้รับจ้างพร้อมดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปลายปี 2567 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี พร้อมเปิดให้บริการได้ภายในปลายปี 2569

 

“ถึงแม้โครงการฯมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อเข้าสนามบินอู่ตะเภา แต่สามารถเปิดให้บริการได้ก่อน โดยไม่ต้องรอให้สนามบินอู่ตะเภาเปิดให้บริการ เนื่องจากแนวเส้นทางโครงการสามารถเชื่อมต่อกับถนนสุขุมวิท ซึ่งจะช่วยระบายการจราจรได้” 

 

ด้านการเวนคืนที่ดินของโครงการฯ ปัจจุบันได้ดำเนินการเวนคืนที่ดินประมาณ 80% โดยกรมฯขอใช้พื้นที่ส่วนใหญ่จากกรมธนารักษ์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ โดยผู้ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าวคือ กองทัพเรือ รวมทั้งยังมีพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ด้วย คาดว่าการเวนคืนที่ดินพร้อมจ่ายค่าทดแทนแก่ชาวบ้านแล้วเสร็จภายในปี 2566 
 

สำหรับพื้นที่ที่ถูกเวนคืนทั้งหมด 21 แปลง 87 ไร่ แบ่งเป็นการขอใช้พื้นที่ของกองทัพเรือ จำนวน 72 ไร่ พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จำนวน 5 ไร่ และพื้นที่เวนคืนของประชาชน จำนวน 10 ไร่ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 3 หลัง ซึ่งไม่ได้ติดปัญหาของพื้นที่การก่อสร้าง

ปิดดีล ถกแหล่งเงินกู้ สร้าง “มอเตอร์เวย์เชื่อมอู่ตะเภา” 4.4 พันล้าน

ทั้งนี้จากการศึกษาโครงการฯ มีผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ ดังนี้ ด้านผลการวิเคราะห์ประโยชน์ทางตรงต่อผู้ใช้ทาง (Direct Road User Benefit) มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน (EIRR) อยู่ที่ 14.79% มูลค่าผลตอบแทนปัจจุบันสุทธิ (NPV) อยู่ที่ 1,089 ล้านบาท อัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินลงทุน (B/C) อยู่ที่ 1.35 ส่วนผลการวิเคราะห์ด้านการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจภาคตะวันออก ส่งผลให้ผลผลิตรวม (Gross output) เพิ่มขึ้น 10,167 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์มวลรวมเพิ่มขึ้น 0.31% 

 

ส่วนการเปิดจุดเชื่อมต่อจาก ทล.7เข้าสู่สนามบินอู่ตะเภาโดยตรง จะช่วยแบ่งเบาการจราจรบริเวณทางแยกต่างระดับอู่ตะเภา โดยคาดการณ์ในปีเปิดให้บริการจะมีปริมาณจราจรจาก ทล.7 มุ่งสู่สนามบินอู่ตะเภา 21,000 คันต่อวัน และเพิ่มเป็นประมาณ 39,500 คันต่อวัน ในปีที่ 30 หลังจากเปิดให้บริการ

 

นอกจากนี้รูปแบบการก่อสร้างของโครงการฯ เป็นการก่อสร้างทางยกระดับแนวใหม่ขนาด 4 ช่องจราจร เชื่อมต่อทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ระยะทาง 1.920 กิโลเมตร (กม.) และมีทางบริการระดับพื้นเพื่อรองรับการสัญจรบริเวณใต้ทางยกระดับ โดยก่อสร้างจะมีช่องทางเลี้ยวและทางแยกต่างระดับบริเวณจุดตัดกับ ทล. 3 และปรับปรุง ทล. 3 ขยายจาก 4 ช่องจราจร เป็น 8 ช่องจราจร รวมทั้งก่อสร้างสะพานกลับรถ (U-Turn) บน ทล.3 ซึ่งโครงการฯจะไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง เนื่องจากส่วนต่อขยายฯ อยู่นอกบริเวณด่านอู่ตะเภา และไม่มีการสร้างด่านเก็บค่าผ่านทางเพิ่มเติม

 

สำหรับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข 7 ส่วนต่อขยายเชื่อมสนามบินอู่ตะเภา หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยรองรับการจราจรที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตบริเวณสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ซึ่งสนามบินอู่ตะเภาจะเปิดให้บริการเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลักแห่งที่ 3 ในปี 2569 โดยจะเป็นการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อจากทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ช่วงพัทยา-มาบตาพุด ถัดจากด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอู่ตะเภาเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 ของสนามบินอู่ตะเภาโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดระยะทางสู่สนามบินอู่ตะเภาจากเดิม 5 กิโลเมตร (กม.) เหลือ 1.92 กิโลเมตร (กม.)