ปลัดคลังชี้ก้าวต่อไปเศรษฐกิจไทย เน้นลงทุน สร้างความยั่งยืน

23 พ.ย. 2566 | 10:04 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2566 | 16:17 น.

คลังชี้เศรษฐกิจไทยเจอสารพัดความท้าทาย ระบุ 20 ปี จีดีพีโตเฉลี่ยเพียง 3.2% ฝั่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูง แต่ฐานะการคลังยังมีเสถียรภาพ แนะต่อไปเน้นลงทุน สร้างความยั่งยืน

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวในงานปิดหลังสูตร WEALTH OF WISDOM : WOW#3 หัวข้อเรื่อง “ก้าวต่อไปของเศรษฐกิจไทย” ว่า ปัจจุบันความท้าทายของเศรษฐกิจไทยมีอยู่หลายปัจจัย ได้แก่ ความผันผวนของโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ 

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทย ยังมีความท้าทายในด้านการเติบโจทางเศรษฐกิจ โดยตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา การเติบโตจีดีพีไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2% ซึ่งแบ่งเป็น 4 ช่วงเวลา ได้แก่ 

  • ยุคปี 2540-2550 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 5.6% 
  • ปี 2551-2555 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 3.3% 
  • ปี 2556-2560 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 1.9% 
  • ปี 2561-2565 เศรษฐกิจไทยโตเฉลี่ย 0.9% 

“หากถอยหลังลงไปเศรษฐกิจไทยเคยโตเฉลี่ย 7-8% เมื่อเทียบกับสัดส่วนตัวเลจจีดีพีในปัจจุบันถือเป็นความท้าทายว่าจะทำให้กลับมาเติบโตไปจุดที่มีศักยภาพได้อย่างไร ขณะที่การลงทุนของไทย ในรอบ 25 ปีที่ผ่าน พบว่าประเทศไทยลงทุนไม่ถึง 25%ของจีดีพี และปัจจุบันไทยยังเข้าสู่สังคมสูงวัย ซึ่งมีความท้าทายในเรื่องตลาดแรงงาน“

ขณะที่สถานการณ์หนี้ครังเรือนในปัจจุบันก็อยู่ระดับสูงที่ 90.7% โดยกติกาโลกมองว่าระดับเสถียรภาพหากไม่ให้กระทบการบริโภคควรอยู่ที่สัดส่วน 80% ซึ่งจะต้องมีการดูแลและรับมือกับเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาสัดส่วนหนี้ครัวเรือนจากจำนวนดังกล่าว พบว่า มากกว่า 50% เป็นหนี้สำหรับการลงทุน คือเป็นหนี้อสังหาริมทรัพย์ และรถยนต์ ไม่ได้เป็นหนี้บัตรเครดิตแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ประกาศนโยบายเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ ซึ่งจะเข้ามาตอบโจทย์การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างรูปธรรม

นายลวรณ กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยเผชิญกับภาวะท้าทาย แต่ยืนยันว่าเสถียรภาพยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยปัจจุบันมีเงินทุนสำรองกว่า 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบมูลค่านำเข้าจากต่างประเทศ สามารถรองรับได้ถึง 7 เดือน ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลกว่า 2,800 ล้านดอลลาร์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบที่ไม่เกิน 2% ต่างจากประเทศในยุโรปที่มีสัดส่วนเงินเฟ้อสูง

นอกจากนี้ ฐานะการคลังยังอยู่ในเกณฑ์ดี ยืนยันว่า ไม่ถังแตก โดยปีงบประมาณ 2566 คลังจัดเก็บรายได้ได้สูงถึง 2.6 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.1 แสนล้านบาท ขณะที่เงินคงคลังอยู่ที่ 5.3 แสนล้านบาท ซึ่งมีเพียงพอ ด้านสัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 62% ไม่เกินกรอบที่กำหนดไว้ 70% และประเทศไทยยังมีความสามารถในการแข่งขัน และความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคอยู่ที่ 60.2 สูงสุดในรอบ 44 เดือน แม้จะมีความท้าทายยังมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจแข็งแกร่ง 

ทั้งนี้ หากถามว่าประเทศไทยจะก้าวต่อไปอย่างไร จะต้องทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ โดยมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภค แน่นอนว่าสามารถทำได้ แต่จากข้อมูลของภาครัฐไม่ได้มองการบริโภคเท่านั้น เรายังมองโรดแมป อาทิ การใช้อีอีซี เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลก็มีนโยบายชัดเจน และต้องการให้อีอีซีเป็นเครื่องยนต์ใหม่ 

“Eastern Seaboard เป็นการลงทุนใหญ่ ทำให้เศรษฐกิจไทยโตได้ 2 หลัก และรัฐบาลนี้ก็คาดหวังว่าจะมีการทำให้เกิดขึ้นของอีอีซี การลงทุนในอุตสาหกรรมคุณภาพสูง กลุ่มไฮเทค สินค้าไฮเอ็น ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายที่จะขับเคลื่อนเต็มที่ และเราจะส่งเสริมการลงทุนแบบโฟกัสมากขึ้น เช่น ที่ผ่านมามีการดึงดูดนักลงทุนด้วยการสร้างแรงจูงในผ่านการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และจะมีการเดินหน้าแลนด์บริดจ์ รวมทั้งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วย“

ทั้งนี้ แน่นอนว่าผลของการกระตุ้นบริโภคเห็นผลเร็ว แต่การลงทุนก็เป็นความยั่งยืน และหากจะก้าวไปสู่อนาคตสิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญอีกอย่าง คือ เรื่อง ESG ซึ่งมีผลต่อการดำเนินธุรกิจ, ดิจิทัล จะต้องมีการทรานฟอร์มและปรับปรุงตามโลก, และท้ายที่สุด คือ เรื่องภาษี ซึ่งหากเป็นผู้เสียภาษีถูกต้องจะทำให้ธุรกิจมีความยั่งยืน