นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาเรื่องการพักหนี้ของภาคเอสเอ็มอีทั้งระบบ แต่ก็ต้องดูให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลรับภาระไหว และยังต้องดูว่าการเข้าไปช่วยต้องไม่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ และไม่ให้เกิด Moral Hazard ด้วย
“ยอมรับว่ามีเม็ดเงินค่อนข้างสูง หนี้ของเอสเอ็มอีเฉลี่ยต่อรายไม่ใช่แค่หลักแสนบาท ถือเป็นภาระที่หนัก ซึ่งก่อนหน้านี้โจทย์ของการช่วยเหลือเรื่องการพักหนี้เอสเอ็มอี ช่วยตามรหัส 21 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งคำอธิบายของกลุ่มนี้ มีแค่เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้ไม่ก่อนให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แล้ว ซึ่งรัฐบาลให้ช่วยเหลืออย่างแน่นอน แต่ตอนนี้ยังมีเอสเอ็มอีอีกจำนวนมากที่ไม่ได้มีปัญหาหนี้สิน ยังไม่ถึงขั้นเป็นเอ็นพีแอล เราจึงต้องดูส่วนนี้ด้วย”
ทั้งนี้ ยอมรับว่า จากมาตรการพักหนี้ต่างๆนั้น กังวลเรื่อง Moral Hazard แต่ว่าในสถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ ที่มีแรงกดดันทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องโยกแรงกดดันเหล่านี้ออก ให้ประชาชนสามารถเดินหน้าต่อไปได้ การพักหนี้ครั้งนี้ ยืนยันว่าไม่เหมือนพักหนี้ครั้งก่อน เพราะเรามีกลไกอื่นเข้าไปช่วยด้วย
“ผมไปลงพื้นที่ตรวจงาน ได้ถามชาวบ้าน เกษตรกร ว่าพักหนี้มา 13 ครั้งแล้วเป็นอย่างไรบ้าง ทุกคนก็บอกว่า ไม่ได้ดีขึ้น มันเป็นเพียงแค่การประวิงเวลาเท่านั้น แต่กลไกครั้งนี้ ประกอบกับนโยบายอื่นๆที่รัฐบาลใส่เข้าไป มันจะสามารถให้ประชาชน พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้”
ส่วนกรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เตรียมแถลงมาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อย ในช่วงปลายเดือนพ.ย.66นี้ เป็นมาตรการแก้หนี้คนละส่วนกับการมาตรการพักหนี้เกษตรกรที่เคยออกมาแล้ว โดยการพักชำระหนี้เป็นเพียงการต่ออายุ ต่อลมหายใจให้พี่น้องเกษตรกร
ทั้งนี้ มาตรการแก้ไขหนี้สินประชาชนรายย่อยนั้น เป็นการของอีกส่วนงาน โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งเมื่อ 14 พฤศจิกายน ได้มีการประชุมนัดแรก และเห็นชอบแนวทางการแก้ปัญหาหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ไปแล้ว