"กรมขนส่ง" จับมือ "รฟท." ดัน 2 โปรเจ็กต์ เชื่อมขนส่งสินค้าทางบก-ระบบราง

24 พ.ย. 2566 | 08:55 น.
อัพเดตล่าสุด :24 พ.ย. 2566 | 12:46 น.

"กรมขนส่ง" จับมือ รฟท. ลงนาม MOU ลุยเชื่อมระบบขนส่งสินค้าไร้รอยต่อ นำร่อง 2 โปรเจ็กต์ ปลุกรถไฟทางคู่สายเหนือ-อีสาน หวังเชื่อมระบบร่วมกันภายในปี 71 หนุน 4 ประเทศ

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในการเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางรางอย่างไร้รอยต่อ ระหว่างกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ว่า การ MOU ในวันนี้ เป็นไปตามนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในการเชื่อมต่อการขนส่งสินค้าจากถนนสู่ระบบรางอย่างไร้รอยต่อ ลดระยะเวลา และลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ หลังจากที่รัฐบาลได้ลงทุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมูลค่ามหาศาล

\"กรมขนส่ง\"  จับมือ  \"รฟท.\"  ดัน 2 โปรเจ็กต์ เชื่อมขนส่งสินค้าทางบก-ระบบราง

ทั้งนี้การบูรณาการระหว่าง ขบ. และ รฟท.นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี โดยจะนำร่อง 2 โครงการ คือ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย และโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ก่อนที่จะขยายไปยังโครงการอื่นๆ ต่อไป อย่างไรก็ตาม การเปิดให้บริการทั้ง 2 โครงการดังกล่าว จะให้บริการแบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service)

 

นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) กล่าวว่า ขบ. มีแผนลงทุนพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) สนับสนุนการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบและรองรับการเชื่อมต่อการขนส่งกับระบบราง ของ รฟท. ที่ได้ลงทุนพัฒนาโครงข่ายระบบรางให้มีความครอบคลุมทั่วประเทศ

โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ ซึ่งจะดำเนินการก่อสร้างย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) เพื่อรวบรวมและกระจายสินค้าระหว่างทางถนนกับทางราง รองรับการเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค ช่วยสร้างโครงข่ายการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและต้นทุนทางด้านโลจิสติกส์ของผู้ประกอบการขนส่งและเจ้าของสินค้า รวมถึงภาพรวมด้านเศรษฐกิจของประเทศ

\"กรมขนส่ง\"  จับมือ  \"รฟท.\"  ดัน 2 โปรเจ็กต์ เชื่อมขนส่งสินค้าทางบก-ระบบราง

 ที่ผ่านมาทั้ง 2 หน่วยงานบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง และจัดทำ MOU ครั้งนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ความมุ่งมั่นร่วมกันจะยกระดับความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม บูรณาการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบการขนส่งสินค้า เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางบกกับทางราง และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไร้รอยต่อ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ต้องการให้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งทุกระบบ สามารถเชื่อมต่อระหว่างกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน เปิดประตูค้าขาย และเปิดโอกาสประเทศไทยเพิ่มขึ้น

 

ส่วนขอบเขต MOU ฉบับนี้ กำหนดให้ ขบ. และ รฟท. สนับสนุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบการขนส่งสินค้าตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้รองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกกับทางราง ณ สถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal) หรือย่านกองเก็บตู้สินค้า (Container Yard) หรือศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) ที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบันและมีแผนจะดำเนินการในอนาคตได้อย่างไร้รอยต่อ

\"กรมขนส่ง\"  จับมือ  \"รฟท.\"  ดัน 2 โปรเจ็กต์ เชื่อมขนส่งสินค้าทางบก-ระบบราง

ในปัจจุบัน ขบ. มีโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย วงเงิน 2,864 ล้านบาท แบ่งเป็น งบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานระยะ (เฟส) ที่ 1 วงเงิน 1,300 ล้านบาท ซึ่งได้ก่อสร้างเสร็จ และเปิดใช้บริการแล้ว และงบก่อสร้างเฟส 2 วงเงิน 649 ล้านบาท อยู่ระหว่างดำเนินการมีความคืบหน้า 1% คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 68 เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ คาดแล้วเสร็จในปี 71

ขณะเดียวกันการดำเนินการกระบวนการคัดเลือกเอกชน ตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) อยู่ระหว่างอัยการตรวจร่างสัญญา จากนั้นจะลงนามสัญญากับเอกชน และให้เอกชนเข้ามาบริหารศูนย์ฯ ช่วงเดือน เม.ย. 67

\"กรมขนส่ง\"  จับมือ  \"รฟท.\"  ดัน 2 โปรเจ็กต์ เชื่อมขนส่งสินค้าทางบก-ระบบราง

2.โครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,361 ล้านบาท อยู่ระหว่างการก่อสร้างทั้งในส่วนที่ภาครัฐและเอกชนรับผิดชอบ ปัจจุบันมีความคืบหน้า 32.6% คาดเปิดให้บริการในปี 68 เพื่อรองรับโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม จะแล้วเสร็จในปี 71

\"กรมขนส่ง\"  จับมือ  \"รฟท.\"  ดัน 2 โปรเจ็กต์ เชื่อมขนส่งสินค้าทางบก-ระบบราง

นอกจากนี้ ขบ. มีแผนจะก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า จ.สุราษฎร์ธานี และ ก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้า จ.มุกดาหาร ซึ่งมีแนวเส้นทางโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ผ่านด้วย รวมถึงการพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้านาทา จ.หนองคาย ซึ่ง รฟท. จะเป็นผู้รับผิดชอบ และใช้รูปแบบดังกล่าวบริหารจัดการต่อไป

 

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า นโยบายการเพิ่มขีดความสามารถการขนส่งทางรางเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นระบบขนส่งหลักในด้านโลจิสติกส์ของประเทศ ขณะเดียวกันการจะต้องเชื่อมโยงร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ

 

"การMOU ครั้งนี้จะเป็นความร่วมมือต้นแบบที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมรูปแบบการขนส่งระหว่างทางบกและทางรางอย่างไร้รอยต่อ ช่วยลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มความสะดวกสบาย นำไปสู่การใช้ระบบรางมากขึ้น ปัจจุบันรัฐส่งเสริมการลงทุนและระบบโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มงบประมาณเพื่อดำเนินการในส่วนต่างๆ ของ รฟท. ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศและการค้า ช่วยลดต้นทุนการขนส่งของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม"

 

ทั้งนี้ที่ผ่านมา รฟท. และ ขบ.ได้ทำงานบูรณาการร่วมกันในด้านการเชื่อมต่อระบบ, การออกแบบ รวมถึงการใช้ที่ดิน เพื่อสานต่อในการลงนาม MOU ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ขณะนี้ รฟท. มี 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง โดยอาศัยร่วมมือกับการเชื่อมระบบขนส่งทางถนนและทางราง ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และ 2.โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 71 จะช่วยเพิ่มศักยภาพและมาตรฐานด้านการขนส่งสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ