รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า ความคืบหน้าโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม วงเงิน 1,361 ล้านบาท ปัจจุบันภาครัฐดำเนินการก่อสร้างมีความคืบหน้าล่าสุด (เดือน ก.ค.66) กว่า 19.996% เร็วกว่าแผน 5.124% ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างงานระบบระบายน้ำ งานถนนและลานคอนกรีตเสริมเหล็ก งานฐานรากอาคารต่างๆ งานทางลอด (Underpass) สำหรับรถบรรทุกเข้า-ออกโครงการ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามที่ภาครัฐรับผิดชอบเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์
ขณะเดียวกันกรมฯมีแผนส่งมอบพื้นที่ให้บริษัท เอสเอซีแอล จำกัด ในฐานะผู้ร่วมลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ไปก่อสร้างในส่วนที่ภาคเอกชนรับผิดชอบช่วงเดือน ต.ค.นี้ ตามเงื่อนไขของสัญญาร่วมลงทุน (PPP) สัญญาสัมปทาน 30 ปี
โดยเอกชนจะเป็นผู้รับผิดชอบลงทุนค่าก่อสร้างองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้ อาทิ อาคารรวบรวมและกระจายสินค้า อาคารคลังสินค้า และอาคารซ่อมบำรุง รวมถึงการติดตั้งเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น Gantry Crane และงานระบบต่าง ๆ โดยมีมูลค่าการลงทุนของภาคเอกชนรวมกว่า 317 ล้านบาท ซึ่งมีกำหนดก่อสร้างทั้งในส่วนที่ภาครัฐและภาคเอกชนรับผิดชอบแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 67 และมีแผนเปิดให้บริการปี 68
สำหรับโครงการศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม ตั้งอยู่ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม จ.นครพนม พื้นที่ 121 ไร่ ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งสินค้าทางถนน รองรับการขนส่งสินค้าทางถนนระหว่างประเทศ บนเส้นทางสาย R12 ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ทสำคัญและมีศักยภาพสูง สามารถเชื่อมต่อการขนส่งจาก จ.นครพนม ไป สปป.ลาว เวียดนาม และทางตอนใต้ของประเทศจีน แถบเมืองหนานหนิง ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจและเป็นตลาดส่งออกผลไม้ที่สำคัญของประเทศไทย ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว
ทั้งนี้ภายในศูนย์การขนส่งชายแดน จ.นครพนม จะมีองค์ประกอบและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรองรับกิจกรรมทางด้านโลจิสติกส์อย่างครบครัน เป็นพื้นที่สำหรับรวบรวมและกระจายสินค้า และเป็นจุดให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) รองรับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่หน่วยงานตรวจปล่อยสินค้า (Customs, Immigrations & Quarantines : CIQ) ทำให้สามารถตรวจปล่อยสินค้าได้อย่างเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว และยังพัฒนาเป็นพื้นที่ควบคุมร่วมกัน หรือ Common Control Area (CCA) รองรับการปฏิบัติงานร่วมกันของเจ้าหน้าที่ไทย และ สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกตรวจปล่อยสินค้าให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในอนาคต
นอกจากนี้โครงการฯยังรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) ระหว่างทางถนนกับทางรางอย่างไร้รอยต่อ ผ่านแนวโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-นครพนม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันผู้ประกอบการขนส่งไทย ช่วยลดต้นทุนการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ด้วย